posttoday

คลัสเตอร์ปิโตรฯลงทุนปีนี้2.4แสนล.

15 กรกฎาคม 2559

คลัสเตอร์ปิโตรเคมีจ่อลงทุนปีนี้ 2.4 แสนล้าน กระทรวงอุตสาหกรรมเร่งแก้อุปสรรคลงทุนพลาสติกชีวภาพ

คลัสเตอร์ปิโตรเคมีจ่อลงทุนปีนี้ 2.4 แสนล้าน กระทรวงอุตสาหกรรมเร่งแก้อุปสรรคลงทุนพลาสติกชีวภาพ

นางอรรชกา สีบุญเรือง รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยความคืบหน้าการประชุมคณะกรรมการเร่งรัดนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ คลัสเตอร์ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ว่า ภาครัฐตั้งเป้าโครงการที่ขอรับส่งเสริมการลงทุนในคลัสเตอร์ปิโตรเคมีฯ 36 โครงการ คิดเป็นเม็ดเงินลงทุน 3.35 แสนล้านบาท และจะมีเม็ดเงินลงทุนจริงปีนี้ 2.4 แสนล้านบาท ส่วนที่เหลือจะลงทุนหลังปี 2559 อีก 1.14 แสนล้านบาท ในขณะที่มีการยื่นคำขอลงทุนแล้ว 3 โครงการ มูลค่าการลงทุน 4,550 ล้านบาท

ทั้งนี้ เพื่อสนับสนุนคลัสเตอร์ปิโตรเคมีฯ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ได้เสนอหลักเกณฑ์การพิจารณามาตรการส่งเสริมการใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพของนิติบุคคลที่มีที่มาของวัตถุดิบและความสามารถในการย่อยสลายเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สามารถนำมาหักค่าใช้จ่ายภาษีนิติบุคคลได้ 200-300% แต่ต้องเป็นนิติบุคคลไทยและใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพที่ผลิตภายในประเทศ

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้หารือเกี่ยวกับประเด็นที่ภาคเอกชนขอซื้ออ้อยจากชาวไร่เองในราคาตลาดโลก ไม่ใช่ซื้อในราคาควบคุม หากเกิดกรณีชาวไร่ไม่ขายอ้อยให้ เอกชนอาจต้องเสนอราคาซื้อสูงกว่าราคาตลาด ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาราคาที่ไม่เป็นธรรม และอาจเกิดปัญหาปริมาณอ้อยในระบบที่จัดสรรอยู่ในโควตาต่างๆ หลุดรอดออกไปนอกระบบ

นางอรรชกา กล่าวว่า หากให้ผู้ประกอบการพลาสติกชีวภาพตั้งโรงงานหีบน้ำอ้อยเพื่อนำน้ำอ้อยบริสุทธิ์มาใช้เป็นวัตถุดิบหรือสารตั้งต้นในการผลิตพลาสติกชีวภาพเองไม่สามารถทำได้ เพราะติด พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย ที่กำหนดการอนุญาตจัดตั้งโรงงานน้ำตาลใหม่ต้องมีระยะห่างกันไม่ต่ำกว่า 50 กิโลเมตร เบื้องต้นจึงอาจให้โรงงานผลิตพลาสติกชีวภาพรับซื้อน้ำอ้อยไปก่อน เพราะในช่วงแรกอาจมีเอกชนลงทุนพลาสติกชีวภาพไม่มาก แต่ต่อไปจะกำหนดมาตรการจูงใจเพิ่มเติมเพื่อให้เอกชนเข้ามาลงทุนมากขึ้น

ทั้งนี้ ประเด็นดังกล่าวยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน ที่ประชุมจึงมอบหมายปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมไปหารือกับสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ชาวไร่ และโรงงานว่าจะจัดระบบอย่างไร หรือควรกำหนดพื้นที่ที่เหมาะสมในการส่งเสริมให้ปลูกอ้อยให้มีข้อสรุปโดยเร็ว เพราะเอกชนที่มีความพร้อมลงทุนก็กังวลว่าจะไม่มีอ้อยในปริมาณที่เพียงพอสำหรับผลิตพลาสติกชีวภาพด้วย

ด้าน นายอาร์ตูโร บริส ผู้อำนวยการ IMD World Competitiveness Center กล่าวในงาน Thailand Competitiveness Conference 2016 ว่า การสร้างนวัตกรรมไม่จำเป็นต้องเป็นในเรื่องของเทคโนโลยีเท่านั้น ภาครัฐสามารถมีนวัตกรรมซึ่งมีส่วนสำคัญกับการเพิ่มขีดความสามารถโดยรวมได้ เช่น สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ตั้งกระทรวงความสุข ดูแลในเรื่องนโยบายที่เป็นความสุขของประชาชน โดยไม่เกี่ยวกับเศรษฐกิจเลย สวีเดนตั้งกระทรวงแห่งอนาคตเพื่อดูเรื่องระยะยาวของประเทศ หรือในเอสโตเนียซึ่งเป็นเศรษฐกิจเกิดใหม่ความสามารถแข่งขันปัจจุบันต่ำกว่าไทย มีนวัตกรรมทางนโยบายดึงดูดการลงทุน โดยให้สิทธิแก่ชาวต่างชาติให้เข้าไปอยู่ในประเทศได้ง่าย ต่างชาติสามารถเปิดบัญชี ทำธุรกิจ เสียภาษีได้เหมือนพลเมืองเอสโตเนีย ซึ่งทำให้ดึงบริษัทต่างๆ เข้าไปตั้งลงทุนได้อย่างน่าสนใจ

นอกจากนี้ ภาครัฐจะต้องไม่ผลักดันนโยบายอยู่ฝ่ายเดียว ต้องสร้างความเป็นหุ้นส่วนระหว่างรัฐและเอกชน และกฎระเบียบที่จะออกมาใหม่ๆ ต้องทำให้การแข่งขันของเอกชนเพิ่มขึ้นได้