posttoday

รื้อเกณฑ์ประเมินสิ่งแวดล้อม

07 กรกฎาคม 2559

ชงใช้เกณฑ์ “เอสอีเอ” ประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมแบบภาพรวม รองรับการลงทุนในอีอีซี

ชงใช้เกณฑ์ “เอสอีเอ” ประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมแบบภาพรวม รองรับการลงทุนในอีอีซี

นายกานต์ ตระกูนฮุน กรรมการชี้นำยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนการเพิ่มผลิตภาพ นวัตกรรม และมาตรฐานภาคอุตสาหกรรม (สปริงบอร์ด) และอดีตกรรมการผู้จัดการบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย เปิดเผยว่า ที่ประชุมสปริงบอร์ดได้หารือรายละเอียดแผนพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) ใน 3 จังหวัด ได้แก่ จ.ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง และเตรียมสรุปร่าง พ.ร.บ.ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ พ.ศ. ... ให้นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี พิจารณาในวันที่ 14 ก.ค.นี้ ก่อนเสนอให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา คาดว่าร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้จะประกาศใช้ได้ในอีก 3 เดือน

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังหารือถึงการจัดตั้งกองทุนพัฒนาชุมชนภายใต้ร่าง พ.ร.บ.ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ พ.ศ. ... เพื่อนำเงินมาพัฒนาชุมชนในพื้นที่ ซึ่งแหล่งที่มาของเงินกองทุนจะมาจากภาครัฐ และจากภาคเอกชนในพื้นที่ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างหารือข้อสรุปจำนวนเงินที่เหมาะสมเพื่อใส่เข้าไปในกองทุน

นายสมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ จะมีการปรับปรุงเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ในการขออนุญาตลงทุน เช่น การประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่ปัจจุบันต้องเสนอเป็นรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) แต่การลงทุนในพื้นที่ดังกล่าวจะเปลี่ยนมาเป็นการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (เอสอีเอ) ซึ่งจะมีรายละเอียดที่แตกต่าง อีไอเอคือ การทำธุรกิจในพื้นที่เดียวกันและมีโรงงานติดกันไม่จำเป็นต้องทำอีไอเอ 2 ฉบับ แต่สามารถทำรวมเป็นพื้นที่เดียวครั้งเดียวได้เลย เพราะจะทำให้การบริหารแผนจัดการเกี่ยวกับผลกระทบสิ่งแวดล้อมเป็นไปในภาพใหญ่ เป็นต้น

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ที่ประชุมสปริงบอร์ดมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกลับไปเร่งรัดจัดทำแผนงานในส่วนที่ได้รับผิดชอบ เช่น สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ให้ไปศึกษาและแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมโยงการขนส่งและการคมนาคมในพื้นที่อีอีซี กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาให้ไปกำหนดขอบเขตพื้นที่สำหรับการท่องเที่ยว กระทรวงอุตสาหกรรมไปกำหนดพื้นที่เขตอุตสาหกรรม การกำหนดกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย เพื่อประเมินมูลค่าและรูปแบบการลงทุน ตลอดจนแผนพัฒนาและฟื้นฟูด้านสิ่งแวดล้อม

“แผนการพัฒนาในพื้นที่อีอีซีจะเป็นการพัฒนาครั้งใหญ่ที่เรียกได้ว่าเป็นคลื่นลูกใหม่ในการขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรม หลังจากที่ไทยเคยมีการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่มาบตาพุดและแหลมฉบังมาแล้ว ซึ่งขณะนี้มีนักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจเป็นอย่างมาก หากแผนการดำเนินงานมีความชัดเจนมั่นใจว่าจะมีนักลงทุนเข้ามาลงทุนในอีอีซี จนทำให้มูลค่าการยื่นคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เกินเป้าหมายปีนี้ที่กำหนดไว้ 4.5 แสนล้านบาท” นายสนธิรัตน์ กล่าว

รายงานข่าวเปิดเผยว่า การประชุมสปริงบอร์ดที่มี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เมื่อวันที่ 14 มิ.ย.ที่ผ่านมา มีมติเห็นชอบหลักเกณฑ์เบื้องต้นในการผ่อนปรนและงดเว้นกฎบางข้อ เพื่อส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่อีอีซี โดยจะอนุมัติแผนการลงทุนของผู้ประกอบการได้ ก่อนส่งรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (อีเอชไอเอ)

ขณะที่ก่อนหน้านี้ นายกานต์ ในฐานะประธานคณะทำงานเขตเศรษฐกิจพิเศษด้านการค้าการลงทุนพื้นที่ชายฝั่งภาคตะวันออก ระบุว่า จะสรุปรายละเอียดของสิทธิประโยชน์พิเศษในอีอีซีเสนอให้กับรัฐบาลเห็นชอบภายใน 2 เดือน