posttoday

ตลาดกาแฟร้อนระอุชิงลูกค้าจากร้านถึงในบ้าน

15 มิถุนายน 2559

หลายปีที่ผ่านมา พฤติกรรมการดื่มกาแฟของคนไทยเริ่มยกระดับการดื่มจากกาแฟทรีอินวันชนิดซองมาสู่การดื่มกาแฟคั่วบด

โดย...รัชนีย์ ศรีวัฒนชัย

หลายปีที่ผ่านมา พฤติกรรมการดื่มกาแฟของคนไทยเริ่มยกระดับการดื่มจากกาแฟทรีอินวันชนิดซองมาสู่การดื่มกาแฟคั่วบดทั้งตามร้านรถเข็น ร้านกาแฟในศูนย์การค้า หรือกระทั่งปัจจุบันกลุ่มลูกค้าที่เป็นคอกาแฟตัวจริงถึงขั้นซื้อเครื่องชงกาแฟมาไว้สำหรับชงดื่มเองที่บ้าน ส่งผลให้ตลาดกาแฟยังมีโอกาสขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง

เจริญ วุ้ยยื้อ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ดอยช้าง คอฟฟี่ ออริจินอล ผู้บริหารร้านกาแฟดอยช้าง เปิดเผยว่า พฤติกรรมการดื่มกาแฟของคนไทยเปลี่ยนไปมาก โดยเฉพาะกลุ่มวัยทำงานการดื่มกาแฟทรีอินวันลดลง ทำให้ตลาดดังกล่าวหดตัวลงอย่างต่อเนื่อง และบางแบรนด์ต้องปรับตัวเป็นกาแฟที่ผสมจากกาแฟคั่วบด โดยพบว่าขณะนี้ผู้บริโภคนิยมดื่มกาแฟภายในบ้านในสัดส่วน 5-10% แต่อีก 5 ปี มีแนวโน้มซื้อกาแฟ คั่วบดไปชงดื่มที่บ้านมากขึ้นจากสัดส่วน 5-10% เป็น 10-20% ส่วนนั่งดื่มในร้านมีสัดส่วน 80-90%

ทั้งนี้ มองว่าตลาดกาแฟคั่วบดยังมีช่องว่างให้ทาตลาดอีกมาก จากตลาดร้านกาแฟมูลค่า 1.5 หมื่นล้านบาท คาดว่าตลาดยังสามารถเติบโตอย่างต่อเนื่องมากกว่า 10-20%  สำหรับกาแฟดอยช้างได้พัฒนากาแฟคั่วบดชนิดพิเศษสำหรับซื้อกลับไปชงดื่มเองที่บ้าน รวมทั้งจำหน่ายอุปกรณ์เครื่องชงกาแฟจากต่างประเทศเข้ามาจำหน่ายสำหรับภายในบ้าน และพัฒนากาแฟในรูปแบบแคปซูลออกมาจำหน่าย รองรับกับพฤติกรรมของผู้บริโภค

ด้าน จุฬาวัลย์ พงษ์สุทธิมนัส กรรมการผู้จัดการ บริษัท คอปเปอร์ คราวน์ ผู้ดำเนินธุรกิจร้านกาแฟ สตาฟ คอฟฟี่ กล่าวว่า บริษัทวางแผนเปิดตัวกาแฟทรีอินวันระดับพรีเมียม เจาะตลาดกลุ่มลูกค้าที่ซื้อกลับไปชงดื่มที่บ้าน เนื่องจากมองว่าตลาดกาแฟทรีอินวันยังไม่มีสินค้าที่ตอบโจทย์ทางด้านรสชาติอย่างแท้จริงและเป็นตลาดที่ใหญ่ โดยสินค้าของบริษัทจะเป็นกาแฟออร์แกนิก เจาะกลุ่มผู้รักสุขภาพ พร้อมกันนี้ยังเดินหน้าขยายสาขาทั้งปี 22 สาขา จากปัจจุบันมีทั้งหมด 12 สาขา สำหรับรายได้ตั้งเป้าเติบโต 100% หรือมีรายได้มากกว่า 100 ล้านบาท

ขณะที่ธุรกิจร้านกาแฟระดับบน "สตาร์บัคส์" ยังคงเป็นแบรนด์ที่มีความแข็งแกร่ง ทำให้หลายแบรนด์หันมาทำตลาดร้านกาแฟระดับกลางในเซ็กเมนต์เดียวกับแบล็คแคนยอน กรรณิการ์ ชินประสิทธิ์ชัย ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท แบล็คแคนยอน (ประเทศไทย) ผู้ดำเนินธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่มแบล็คแคนยอน กล่าวว่า พฤติกรรมการดื่มกาแฟสดของคนไทยจะอยู่ที่ราว 200 แก้ว/ปี หรือโดยเฉลี่ยระหว่างมื้อเช้ากับมื้อกลางวัน โดยลูกค้าที่เข้ามาในร้านแบล็คแคนยอนส่วนใหญ่ต้องการดื่มกาแฟหรืออาหารเท่าๆ กัน ซึ่งคือความโดดเด่นของแบล็คแคนยอน

สำหรับภาพรวมการแข่งขันร้านกาแฟเซ็กเมนต์ระดับกลาง ถือว่ามีความรุนแรงเพราะเป็นระดับ ที่คนเข้าถึงได้ง่ายทั้งกลุ่มผู้ดื่มระดับบนและล่าง จึงเกิดแบรนด์ใหม่ๆ เข้ามาทำตลาด กลยุทธ์ของแบล็คแคนยอนเน้นชูการเป็นกาแฟคั่วบดอราบิกา 100% การขยายสาขาเน้นโมเดลขนาดเล็กเพื่อให้เข้าถึงลูกค้าได้ทุกที่ ทั้งในย่านทำงานและชุมชน รถไฟฟ้า จากเดิมเน้นขยายสาขาขนาดใหญ่ ช่วงครึ่งปีหลังเปิดเพิ่ม 10 สาขา เมื่อต้นปีเปิดไปแล้ว 15 สาขา หรือราว 295 สาขา

กิจจา วงศ์วารี กรรมการบริหาร อโรม่า กรุ๊ป ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์กาแฟครบวงจร กล่าวว่า ปีนี้บริษัทจะรุกขยายกลุ่มสินค้าระดับกลาง ตั้งแต่เมล็ดกาแฟ ตลอดจนร้านกาแฟชาวดอยอย่างเข้มข้น เนื่องจากพบว่าตลาดกาแฟระดับกลางยังเติบโตได้ดี และไม่ได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจ ต่างกับร้านกาแฟระดับพรีเมียมที่การแข่งขันรุนแรง เพราะมีเจ้าตลาดที่แข็งแกร่ง

ทั้งนี้ บริษัทจึงเตรียมจะขยายสาขาร้านกาแฟชาวดอยเพิ่มขึ้นอีก 80 สาขา จากปัจจุบันที่ 300 สาขา ควบคู่ไปกับการปรับร้านให้ใหญ่ขึ้นและมีที่นั่ง เพื่อสร้างภาพลักษณ์ร้านให้ดูมีมาตรฐาน พร้อมทั้งเร่งทำการขายเมล็ดกาแฟและผลิตภัณฑ์ครบวงจรของลูกค้าระดับกลางมากขึ้น

"ที่ผ่านมาร้านกาแฟขนาดเล็กเกิดขึ้นเยอะ ซึ่งบริษัทมองว่าเป็นโอกาสมากกว่าอุปสรรคในการทาธุรกิจ เราไม่ได้มองว่าเป็นคู่แข่ง เพราะช่วยสร้างรายได้ให้กับบริษัทมากกว่า สำหรับรายได้ในปีนี้เติบโต 30% รายได้หลักมาจากกลุ่มผลิตภัณฑ์กาแฟ 80% ร้านกาแฟชาวดอย 10% และอื่นๆ อีก 10%

ตลาดกาแฟสดยังสามารถเติบโตอีกมาก แม้ กระทั่งเนสกาแฟยังต้องปรับกลยุทธ์ครั้งใหญ่ เปิดตัว เนสกาแฟ เบลนด์ แอนด์ บรู ผสมกาแฟคั่วบดละเอียด สะท้อนว่าช่องว่างธุรกิจร้านกาแฟยังมีอีกมากมาย โดยเฉพาะการต่อยอดจากร้านกาแฟสู่การดื่มที่บ้านด้วยการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ