posttoday

หัวเว่ยชี้สมาร์ทโฟนโตสวนศก.

03 มิถุนายน 2559

หัวเว่ยเชื่อสมาร์ทโฟนในไทยยังโตแม้ภาพรวมชะลอตัว เผย 5 ปีแชร์เพิ่มเป็น 8.5%

หัวเว่ยเชื่อสมาร์ทโฟนในไทยยังโตแม้ภาพรวมชะลอตัว เผย 5 ปีแชร์เพิ่มเป็น 8.5%

นายโทมัส หลิว ประธานบริหาร หัวเว่ย คอนซูเมอร์ บิสสิเนส กรุ๊ป เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เปิดเผยว่า แม้ตลาดสมาร์ทโฟนจะเข้าสู่ภาวะชะลอตัว แต่ไม่ใช่ข้ออ้างของแบรนด์ผู้ผลิตว่าทำไมขายสินค้าไม่ได้หรือขายได้น้อยลง เพราะการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ อย่างต่อเนื่องจะช่วยให้รักษาความแข็งแกร่งของตลาด ซึ่งไม่ใช่ทุกแบรนด์ที่จะทำได้

“หัวเว่ยยังคงลงทุนในไทยอย่างต่อเนื่อง เพราะเชื่อมั่นในศักยภาพด้านกำลังซื้อและความต้องการของตลาด โดยมีการวิจัยและพัฒนาสินค้าตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ใช้เงินลงทุนทั่วโลกกว่า 3.7 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 1.3 ล้านล้านบาท เพื่อพัฒนาสินค้าให้ตรงกับความต้องการของตลาด ส่วนประเทศไทยลงทุนมากกว่า 600 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 2.1 หมื่นล้านบาท ตลอดระยะเวลา 5 ปีที่เข้ามาขยายสาขา ส่วนใหญ่จะลงทุนในด้านการตลาด คู่ค้า ศูนย์บริการและสำนักงานใหญ่ เพื่อให้สินค้ามีความน่าเชื่อถือและแข็งแรงในตลาดนี้” นายโทมัส กล่าว

ทั้งนี้ ในช่วงไตรมาสแรกที่ผ่านมา หัวเว่ยมีส่วนแบ่งในการจัดส่งสมาร์ทโฟนเพิ่มขึ้น 8.5% เติบโตขึ้น 62% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ทำให้ภาพรวมของหัวเว่ยเติบโตขึ้นมากกว่า 1.5%

“สิ่งที่บอกได้คือในประเทศไทยมีการรับรู้แบรนด์หัวเว่ยเพิ่มขึ้นเป็น 60% จากเดิมอยู่ที่ 32% แต่ยังไม่เป็นที่พอใจและต้องการให้ผู้บริโภครับรู้แบรนด์ในระดับ 85% ภายในสิ้นปีนี้ จึงมุ่งที่จะทำตลาดและนำเสนอแบรนด์ผ่านช่องทางต่างๆ พร้อมทั้งนำสินค้าที่มีความหลากหลายเข้ามาในตลาดให้มากขึ้น ไม่ใช่แค่สมาร์ทโฟน”

นอกจากนี้ บริษัทจะดำเนินกลยุทธ์ความสำเร็จของธุรกิจที่เรียกว่า Global Innovation Hive หรือการนำเอาความโดดเด่นของโมเดลธุรกิจจากทุกสินค้าทั่วโลกมาเชื่อมโยงทุกประเทศ เพื่อให้ประสบความสำเร็จมากที่สุด ผ่าน 4 วิธี ดังนี้

“กลยุทธ์ดังกล่าวประกอบด้วย 1.หัวเว่ยจะหมุนเวียนซีอีโอทุกๆ 6 เดือน เพื่อป้องกันปัญหาจำกัดอำนาจการบริหารภายในองค์กร 2.ให้พนักงาน 1.7 แสนรายทั่วโลก เป็นผู้ถือหุ้นหลัก 99% เพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการทำงานคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ 3.สานต่อการวิจัยและพัฒนาจากประเทศต่างๆ ที่มีความโดดเด่นต่างกัน 4.ไม่จดทะเบียนเข้าตลาดหุ้น เพราะไม่อยากให้ผู้ถือหุ้นจำกัดกรอบความคิด”

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้สินค้าตรงกับความต้องการของตลาดมากที่สุด จึงมีศูนย์วิจัยและพัฒนาทั่วโลก ซึ่งจะมีหน้าที่ต่างกันตามความถนัดของแต่ละประเทศ

“หัวเว่ยมีศูนย์วิจัยด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ฝรั่งเศสและสหรัฐอเมริกา เพื่อเลือกสีและวัสดุที่เหมาะสม มีการทำงานเชิงวิทยาศาสตร์ที่ศูนย์วิจัยในรัสเซียและศูนย์พัฒนาด้านการส่งสัญญาณเครือข่ายในญี่ปุ่น รวมทั้งคิดค้นระบบส่งสัญญาณ 5จี ในยุโรปอีกด้วย ทำให้หัวเว่ยมีการจดทะเบียนสิทธิบัตรและมีจำนวนลิขสิทธิ์มากถึง 5.2 หมื่นเรื่อง”

ทั้งนี้ ยังมีความร่วมมือกับคู่ค้า เช่น ไมโครซอฟท์ สวารอฟสกี้ อินเทล กูเกิล ไลก้าและออดี้ เพื่อให้สินค้าหัวเว่ยเข้าไปอยู่ทุกกลุ่มธุรกิจใหม่ๆ ได้ต่อเนื่อง

ภาพเอเอฟพี