posttoday

ยกระดับการศึกษา ให้เท่าทันเทคโนโลยี

09 พฤษภาคม 2559

นโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลของรัฐบาล ภาคการศึกษาถือว่าเป็นกลไกหนึ่งที่ต้องส่งเสริมให้มีคุณภาพมากขึ้น

โดย...ศาตราวุธ พินิจ

นโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลของรัฐบาล ภาคการศึกษาถือว่าเป็นกลไกหนึ่งที่ต้องส่งเสริมให้มีคุณภาพมากขึ้น เพราะปัจจุบันสถาบันระดับอุดมศึกษาก้าวไม่ทันเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว อีกทั้งกระแส 4จี จะทำให้เทคโนโลยีเติบโตอีกมาก ดังนั้นจึงต้องเตรียมความพร้อมทางการศึกษาให้หันมาใช้เทคโนโลยีในการเรียนการสอน เริ่มจากการพัฒนาบุคลากร ครู อาจารย์ ก่อน

ดิลก คุณะดิลก กรรมการสมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศ เปิดเผยว่า เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงเร็วมาก ทำให้ระบบการศึกษาในระดับอุดมศึกษาของภาครัฐยังไม่สามารถปรับตัวตามเทคโนโลยีได้ทัน และการแข่งขันทางการศึกษาไม่ใช่แค่ในไทยแล้ว แต่เป็นการแข่งขันทั่วโลกดังนั้นจึงต้องเตรียมความพร้อมให้กับนักศึกษา เพื่อผลิตบุคลากรออกไปตลาดแรงงาน โดยครูอาจารย์จะเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้ระบบการศึกษาพัฒนาขึ้น

“การศึกษาในไทยระดับอุดมศึกษาจะเข้าสู่ยุค Digital University จึงต้องพัฒนาระบบการศึกษาให้มีศักยภาพก่อน ปัจจุบันสังคมคาดหวังให้ระดับการศึกษาอุดมศึกษา ด้านการเรียนการสอน การวิจัย การเชื่อมโยงสังคม ซึ่งรูปแบบการเรียนในห้องเรียน นักศึกษาไม่จำเป็นจะต้องนั่งฟังอาจารย์เหมือนการเรียนการสอนในอดีต เพราะเทคโนโลยีสามารถช่วยให้นักศึกษาสามารถค้นความรู้ได้เองตลอดเวลา แต่ในหลักสูตรความเข้มข้นของเนื้อหายังคงอยู่ แต่ต้องมีไอซีทีเข้ามาในระบบการศึกษา”

ทั้งนี้ ภาคเอกชนถือเป็นส่วนสำคัญที่เข้ามาร่วมพัฒนาการศึกษาของไทย เช่น การจัดงานสัมมนาวิชาการด้านการศึกษาเมื่อวันที่ 27-28 เม.ย.ที่ผ่านมา ธุรกิจเอกชนอย่าง เลอโนโว เอชพี แคนนอน ได้นำผลิตภัณฑ์ระดับโลกมาแสดงนวัตกรรม และอบรมความรู้ด้านไอซีทีให้บุคลากร ครู อาจารย์ โดยทางมหาวิทยาลัยจะเลือกว่าจะนำเทคโนโลยีไปปรับใช้ในสถานศึกษาเอง

ม.ล.ปริยดา ดิศกุล ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงศึกษาธิการมุ่งพัฒนาระบอบการศึกษาในไทยตามแนวนโยบายทางภาครัฐ โดยมีเป้าหมายสอนภาษาอังกฤษในหลักสูตรการเรียน ผลิตและพัฒนาบุคลากรครูให้มีคุณภาพ การทดสอบประเมินผลการศึกษา ไอซีทีเพื่อการศึกษา และการบริการทางการศึกษา ในระยะแรกการยกระดับการศึกษาในไทยจะเริ่มจากหลักสูตรการเรียนการสอนวิชาภาษาอังกฤษ ในโรงเรียน 3,000 กว่าแห่ง

“ปัจจุบันเด็กนักเรียนรุ่นใหม่ ใช้ไอทีเก่งกว่าครู และครูต้องตามนักเรียนให้ทัน จึงต้องพัฒนาครูให้มีคุณภาพ และสามารถประยุกต์นำเทคโนโลยีมาใช้ในการสอน อาทิ สอนวิชาภาษาอังกฤษผ่านแอพพลิเคชั่น การนำเทคโนโลยีมาใช้ประโยชน์ก็จะช่วยทุ่นแรงบุคลากรครูได้ด้วย”

ดร.ชฎามาศ ธุวะเศรษฐกุล รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เปิดเผยว่า ในยุคที่เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว มีสถานศึกษาประมาณ 3 หมื่นแห่ง บางแห่งไอทียังเข้าไม่ถึงและมีช่องว่างทางการศึกษาอยู่อีกมาก จึงได้ตั้งมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศขึ้นมาตามแนวทางพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นองค์กรที่ช่วยเหลือเด็กนักเรียนในชนบท ผู้ด้อยโอกาส ผู้พิการ ให้เข้าถึงอุปกรณ์ทางเทคโนโลยี เพื่อการพัฒนาตัวเอง ปัจจุบันมีโรงเรียนที่ด้อยโอกาส 80 โรงเรียนเข้าร่วมโครงการ

ธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฮิวเลตต์แพคการ์ด เอ็นเตอร์ไพรซ์ ประเทศไทย เสริมว่า ยุคดิจิทัลที่พัฒนาอย่างรวดเร็ว หลายธุรกิจได้หันมาทำแอพพลิเคชั่นขององค์กรเอง การเปลี่ยนแปลงของไอทีจึงถือว่าเป็นโอกาสของธุรกิจ แต่บุคลากรด้านไอทียังไม่ตอบโจทย์เพราะเก่งไอทีเฉพาะทาง จึงต้องพัฒนาหาความรู้ให้มากขึ้น และมองว่าโอกาสต่อไปสถาบันจะพัฒนาบุคลากรตามความต้องการภาคธุรกิจได้ เพราะในอนาคตภาคธุรกิจจะใช้ไอทีมาเสริมธุรกิจ ถ้าไม่มีบุคลากรที่มีความรู้ความเข้าใจด้านไอทีมาพัฒนาสินค้า จะทำให้เสียโอกาส

สติยา ลังการ์พินธุ์ ผู้อำนวยการฝ่ายกิจการองค์กร บริษัท อินเทล ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วกำลังเป็นเทรนด์ รวมทั้งการผลักดันเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ของรัฐบาล จึงเป็นปัจจัยบวกทำให้อินเทลเห็นความสำคัญที่จะสนับสนุนให้เด็กคิดนวัตกรรมใหม่ๆ เกิดขึ้น ซึ่งจะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจในไทย

จากการผลักดันการศึกษาทุกระดับ โดยมีทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชนร่วมกัน ภายใต้กรอบนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัล จะทำให้วงการศึกษาไทยในอนาคตอันใกล้พัฒนาขึ้น และมีบุคลากรออกมาเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้