posttoday

ยี่ห้อไทยไร้น้ำยาแข่งระดับอาเซียนเอสเอ็มอี40รอด10แบรนด์

25 กันยายน 2552

หอการค้าฯ ประเมินเสรีอาเซียนกระทบตราสินค้าไทย ส่วนใหญ่ยังปรับตัวไม่ทัน โดยเฉพาะเอสเอ็มอี 40 ยี่ห้อ เหลือแข่งไหวแค่กว่า 10 แบรนด์

หอการค้าฯ ประเมินเสรีอาเซียนกระทบตราสินค้าไทย ส่วนใหญ่ยังปรับตัวไม่ทัน โดยเฉพาะเอสเอ็มอี 40 ยี่ห้อ เหลือแข่งไหวแค่กว่า 10 แบรนด์

นายฉัตรชัย บุญรัตน์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย เปิดเผยในการสัมมนาเรื่อง “เอเอฟทีเอ โอกาสและความท้าทายของแบรนด์ไทย” จัดโดยคณะกรรมการส่งเสริมตราสินค้าไทย หอการค้าไทยว่า ผู้ประกอบการไทยรู้จักตลาดจากการเปิดเสรีอาเซียนหรืออาฟตาน้อยมาก โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอี) พบว่ามีเพียงกว่า 10 ยี่ห้อเท่านั้นที่ได้รับการยอมรับจากตลาด ส่วนที่เหลืออีกกว่า 40 แบรนด์ต้องทำตลาดในประเทศไทย ต่างจากผู้ประกอบการธุรกิจในประเทศอื่น เช่น มาเลเซีย ที่มีตราสินค้าระดับภูมิภาค (รีจินัล แบรนด์) จำนวนมากกว่า และเป็นที่รู้จักในตลาด

ทั้งนี้ การสร้างแบรนด์หรือตราสินค้าไทยให้เป็นที่ยอมรับ เป็นสิ่งจำเป็นต่อการทำตลาดอาฟตา เพื่อชิงความได้เปรียบในการแข่งขันทางธุรกิจ จากการที่ประเทศไทยจะเข้าสู่เวทีการค้าเสรีอาเซียน (อาฟตา) ในเดือนม.ค. 2553 หรืออีกราว 3 เดือนข้างหน้านับจากนี้ โดยเฉพาะในกลุ่มอาเซียนเก่า 5 ประเทศ คือ ไทย บรูไน สิงคโปร์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย โดยสินค้าเกือบทุกรายการจะปรับเพดานภาษีเหลืออัตรา 0% ยกเว้นสินค้าบางรายการที่มีความอ่อนไหว

นายฉัตรชัย กล่าวว่า ผู้ประ กอบการไทยจำเป็นต้องเตรียมความพร้อม และรับทราบกฎระเบียบ หรือผลกระทบต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นหลังเข้าสู่ตลาดอาฟตา เช่น การลงทุน การเคลื่อนย้ายทุน แรงงาน เป็นต้น จากการที่แต่ละประเทศจะเชื่อมโยงเครือข่ายใน 10 ประเทศให้เป็นตลาดเดียวกัน ด้วยจำนวนประชากรอาเซียนรวมกันกว่า 570 ล้านคน

ด้านนางมาลี โชคล้ำเลิศ ผู้อำนวยการสำนักแผนพัฒนาการส่งออก กรมส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ขณะนี้กลุ่มผู้ประกอบการไทยจำเป็นต้องเร่งปรับตัวให้แข่งขันในตลาดอาฟตา ซึ่งเป็นไปตามแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของโลกใน 20 ปีข้างหน้า ประกอบด้วยการรวมตัวกันทางเศรษฐกิจในภูมิภาค เศรษฐกิจโลกจะเปลี่ยนศูนย์กลางอำนาจ กระจายมาอยู่ประเทศแถบเอเชียมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงด้านการเงินโลก กลุ่มประชากรสูงอายุ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีกับการดำรงชีวิตมนุษย์ ปัญหาด้านพลังงาน ปัญหาภัยคุกคามจากภาวะโลกร้อน

ขณะที่ความท้าทายและโอกาสของเศรษฐกิจไทยในระยะสั้น เห็นว่าควรรักษาอัตราการขยายตัวและลดความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลก ส่วนระยะยาวประเทศไทยควรปรับตัวให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆ ด้วยการสร้างโอกาสจากการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ หรือประชาคมอาเซียน (เอซีอี) ในปี 2558 คือการสร้างตลาดขนาดใหญ่ รองรับประชากร 550 ล้านคน ส่งเสริมแหล่งวัตถุดิบ เพิ่มอำนาจการต่อรอง