posttoday

รับมือแจ็คหม่ายึดลาซาด้า

18 เมษายน 2559

อาลีบาบาฮุบลาซาด้า อี-คอมเมิร์ซอาเซียนป่วน แนะสินค้าแฟชั่น-ไอทีของเล่น รับมือของจีนถูกลงอีก 20%

อาลีบาบาฮุบลาซาด้า อี-คอมเมิร์ซอาเซียนป่วน แนะสินค้าแฟชั่น-ไอทีของเล่น รับมือของจีนถูกลงอีก 20%

นายภาวุธ พงษ์วิทยภานุ กรรมการบริหารและผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ตลาดดอทคอม เปิดเผยว่า การที่อาลีบาบาของ แจ็ค หม่า เข้าซื้อกิจการลาซาด้า จะส่งผลกระทบต่อภาพรวมธุรกิจอี-คอมเมิร์ซให้แข่งขันสงครามราคาอย่างรุนแรงมากกว่าเดิม นอกจากนี้ยังสร้างผลกระทบไม่เฉพาะตลาดออนไลน์ในไทยเท่านั้น แต่ยังส่งผล กระทบถึงตลาดอาเซียนด้วย เพราะโครงสร้างราคาสินค้าจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง

แหล่งข่าวจากกลุ่มธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ เปิดเผยว่า จากการที่อาลีบาบาเข้ามาซื้อกิจการลาซาด้า ซึ่งเป็นเว็บไซต์รวบรวมสินค้าจากซัพพลายเออร์คนไทย หรือกระทั่งผู้นำเข้าสินค้าจากต่างประเทศโดยเฉพาะจีน เข้ามาจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์ คาดจะเริ่มมีการปรับโครงสร้างธุรกิจของลาซาด้าครั้งใหญ่ ด้วยการเพิ่มกลุ่มสินค้านำเข้าจากจีนเข้ามาจำหน่ายมากขึ้น และเป็นการซื้อขายโดยตรงจาก ผู้ผลิตจีน

ทั้งนี้ การปรับโครงสร้างธุรกิจลาซาด้าในไตรมาส 3 คาดจะกระทบผู้ประกอบการไทยที่นำเข้าสินค้า 3 กลุ่มจากจีน คือ กลุ่มไอทีและอุปกรณ์ต่างๆ กลุ่มสินค้าแฟชั่น เสื้อผ้า กระเป๋า และกลุ่ม ของเล่น จะโดนกระทบและเริ่มหายไปจากตลาด เพราะการซื้อกิจการดังกล่าวจะเป็นการตัดพ่อค้าคนกลางหรือผู้นำเข้าสินค้าจีนออกจากระบบด้วยกลไกตลาด เนื่องจากเป็นดีลระหว่างผู้ผลิตกับช่องทางจำหน่ายโดยตรง ทำให้ขายสินค้าถูกลง 20%

ขณะที่ผู้ประกอบการไทยที่ดำเนินธุรกิจขนาดกลางและย่อม หรือกลุ่มสินค้าเอสเอ็มอีที่ยังไม่มีแบรนด์ที่แข็งแกร่ง หรือขาดการสร้างแบรนด์และการรับรู้ หากทำตลาดเดียวกับสินค้าจีนจะเสียเปรียบด้านราคาสินค้า ในส่วนของซัพพลายเออร์ไทยที่มีแบรนด์สินค้าแข็งแกร่งจะได้รับผลกระทบน้อย เพราะปัจจัยการตัดสินใจซื้อสินค้าทางออนไลน์ไม่ใช่ซื้อสินค้าเพราะราคาถูก แต่การซื้อสินค้ายังคำนึงถึงแบรนด์ เพราะช่วยการันตีถึงคุณภาพสินค้า

"ผู้นำเข้าสินค้าจากจีนต้องปรับตัวหาสินค้าตลาดใหม่ๆ เข้ามาจำหน่าย เน้นสินค้าที่มีคุณภาพ หรือสั่งผลิตขึ้นมาเฉพาะ แตกต่างกับสินค้าที่ซัพพลายเออร์จีนผลิตและขายบนเว็บไซต์ลาซาด้า ส่วนเอส เอ็มอีไทยต้องหันมาสร้างแบรนด์ให้แข็งแกร่ง พร้อมกับใช้เมดอินไทยแลนด์เป็นการ การันตีว่าเป็นสินค้าที่มีคุณภาพ" แหล่งข่าวเปิดเผย

นายภาวุธ กล่าวถึงผลกระทบดังกล่าวว่า บริษัทกำลังพิจารณาปรับโพสิชันนิ่งครั้งใหม่ และไม่เน้นการทำสงครามราคา พร้อมกับชูจุดแข็งด้านการบริการ เพื่อรองรับกับการแข่งขันที่มีความรุนแรง  ส่วนภาพรวมธุรกิจอี-คอมเมิร์ซในไทยมูลค่า 1.82 แสนล้านบาท เกิดการแข่งขันด้านราคาต่อเนื่อง 2-3 ปีแล้ว เพราะกลยุทธ์ราคาเป็นสิ่งที่จูงใจให้ลูกค้าหันมาซื้อสินค้าจากช่องทางออฟไลน์มาเป็นออนไลน์ และช่วงชิงลูกค้าระหว่างช่องทางออนไลน์ด้วยกันเอง

อย่างไรก็ตาม การใช้จ่ายในตลาดออนไลน์จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ด้วยอานิสงส์ 4จี ที่ทำให้คนเข้าถึงสินค้าผ่านมือถือง่ายขึ้น แนวโน้มการใช้จ่ายของนักช็อปไทยในปีนี้น่าจะอยู่ที่ 1,270 บาท/เดือน ส่วนสินค้ายอดนิยมยังคงเป็นแฟชั่น 24% น้ำหอม 11% เฟอร์นิเจอร์ 11% อุปกรณ์ไอที 8% อาหารและเครื่องดื่ม 6%