posttoday

ปุ๋ยไส้เดือน‘ณัศพงศ์ฟาร์ม’ ต่อยอดจากเกษตรอินทรีย์

12 เมษายน 2559

ณัศพงศ์ฟาร์มเลี้ยงไส้เดือนขายอินทรีย์ สร้างรายได้งาม ต่างประเทศสนใจสั่งซื้อ

โดย...ไชยวัฒน์ สาดแย้ม

ณัศพงศ์ฟาร์มเลี้ยงไส้เดือนขายอินทรีย์ สร้างรายได้งาม ต่างประเทศสนใจสั่งซื้อ

ปัจจุบันผู้บริโภคจำนวนมากหันมาสนใจกับพืชผักสวนครัวแบบปลอดสารพิษในแนวเกษตรอินทรีย์ ทำให้เกษตรกรหลายรายเริ่มหันมาปลูกพืชผักในรูปแบบสวนเกษตรอินทรีย์ เช่น ปลูกพืชไร้ดิน ปลูกผักกางมุ้ง ไม่ใช้ปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลง แต่หันไปใช้ปุ๋ยอินทรีย์ เช่น มูลไก่ มูลวัว ขี้ค้างคาว หรือมูลไส้เดือน ส่วนสารป้องกันแมลงศัตรูพืชก็หันไปใช้น้ำส้มควันไม้ สารสกัดจากเมล็ดสะเดา ฯลฯ

ณัศพงศ์ เพชรพันธ์ช่าง หนึ่งในผู้ผลิตปุ๋ยอินทรีย์จากมูลไส้เดือนชื่อดัง ที่ใช้ชื่อแบรนด์ “ณัศพงศ์ฟาร์ม” อ.เมือง จ.เพชรบุรี บอกว่า ทดลองเลี้ยงไส้เดือนแบบลองผิดลองถูกจากจำนวนไม่กี่กะละมัง กระทั่งปัจจุบันมีไส้เดือนที่เลี้ยงไว้กว่า 500 กะละมัง ผลิตเป็นปุ๋ยอินทรีย์ได้ถึงเดือนละประมาณ 3,000 กิโลกรัม หรือ 3 ตัน

สำหรับขั้นตอนการเลี้ยงก็ไม่ได้ยุ่งยาก เป็นขั้นตอนง่ายๆ โดยการนำมูลวัวนมแห้งมาแช่ในบ่อเพื่อเป็นกากลดกรดลดก๊าซประมาณ 3 วัน จากนั้นก็ค่อยเอาขึ้นมาใส่ลงไปในกะละมังไส้เดือน และถ้ามีขยะอินทรีย์ประเภทเศษพืชผักผลไม้ก็นำมาซอยย่อยให้ละเอียดแล้วใส่ลงไปด้วยใช้ระยะเวลา 1 เดือน ก็จะได้ปุ๋ยไส้เดือนประมาณ 5 กิโลกรัม จากนั้นก็นำมาร่อนเอาแต่ปุ๋ยแยกเอาตัวไส้เดือนออกไป ซึ่งตัวไส้เดือนก็มีจำนวนมากขึ้นอีกด้วย จากหนึ่งกะละมังก็สามารถขยายได้เป็น 2 กะละมัง ถ้าสองกะละมังก็จะได้เป็น 4 คือจะสามารถขยายจำนวนตัวไส้เดือนและจำนวนกะละมังได้ในทุกๆ 1 เดือน

นอกจากนี้ ตัวไส้เดือนก็สามารถขายได้ในราคากิโลกรัมละ 700 บาท โดยใช้ไส้เดือนสายพันธุ์แอฟริกัน (AF) เพื่อผลิตปุ๋ยจากมูลไส้เดือน โดยเลี้ยงในกะละมังขนาด 50 เซนติเมตร ต้นทุนต่อกะละมังประมาณ 80 บาท การเลี้ยง 1,000 กะละมัง ใช้แรงงานเพียงแค่ 1 คน สิ่งสำคัญจะต้องมีการควบคุมความชื้น ให้มีสภาพเหมาะสม สภาพอากาศเย็นต้องระมัดระวัง เพราะเป็นอุปสรรคที่ทำให้ไส้เดือนตายได้ อีกอย่างคือนกที่เข้ามาขุดคุ้ยจิกกินตัวไส้เดือน หรือกบ อึ่งอ่าง คางคก ที่เข้ามาฝังตัวในกะละมังเพื่อกินไส้เดือน

ณัศพงศ์ บอกว่า สำหรับการตลาดนั้นยอมรับว่ายากพอสมควร ประการแรกขึ้นอยู่กับภาวะการเกษตร หากพืชผลการเกษตรขายได้มีราคา การสั่งซื้อปุ๋ยมูลไส้เดือนก็มากตามไปด้วย ประการต่อมาก็คือเกษตรกรส่วนใหญ่ยังยึดติดอยู่กับปุ๋ยเคมี ทำให้ยอดขายในแต่ละเดือนอยู่ที่ประมาณ 1-2 ตัน ราคาขายกิโลกรัมละ 35 บาท เฉลี่ยมีรายได้เดือนละ 3.5-7 หมื่นบาท

“มีการต่อยอดการตลาดด้วยการส่งเสริมให้เครือข่ายเกษตรอินทรีย์นำเอาไปใช้ในการปลูกพืชผักสลัด ประเภทเรดโอ๊ก กรีนโอ๊ก ให้เป็นผักปลอดภัยจากสารเคมี แล้วนำไปส่งให้สหกรณ์นำผักไปผ่านกระบวนการตรวจสอบหาสารเคมีต่างๆ แบบ Gps คือเป็นการตรวจร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชน ก่อนนำส่งเข้าโรงแรมและร้านอาหารต่างๆ ในพื้นที่ จ.เพชรบุรี-หัวหิน ซึ่งก็ได้รับการตอบรับได้เป็นอย่างดีสำหรับการต่อยอดเทรนด์อาหารเพื่อสุขภาพ”

ที่สำคัญกระแสความนิยมเกษตรอินทรีย์ ทำให้ต่างประเทศ อาทิ มาเลเซีย สิงคโปร สนใจปุ๋ยมูลไส้เดือนเป็นพิเศษ โดยมีความต้องการมากถึงเดือนละ 500 ตัน กำลังสร้างเป็นเครือข่ายผลิตปุ๋ยอินทรีย์จากมูลไส้เดือนขึ้นมา แล้วรวบรวมส่งออกไป

หากเดินตามเป้าหมายนี้ได้ ธุรกิจปุ๋ยเกษตรอินทรีย์ของไทยก็น่าจะมีโอกาสก้าวหน้าไปได้อีก