posttoday

ซ้อมแผนรับมือพลังงานขาด

15 มีนาคม 2559

พลังงานซ้อมแผนรับมือสงคราม-แหล่งเมียนมาหยุดจ่ายก๊าซจนพลังงานขาดแคลน ปตท.หนุนสำรองน้ำมัน

พลังงานซ้อมแผนรับมือสงคราม-แหล่งเมียนมาหยุดจ่ายก๊าซจนพลังงานขาดแคลน ปตท.หนุนสำรองน้ำมัน

พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รมว.พลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงานร่วมกับ 17 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องระดมความเห็นและซักซ้อมแผนรองรับสภาวะฉุกเฉินด้านพลังงานของประเทศประจำปี 2559 ใน 2 เหตุการณ์ คือ 1.กรณีที่เกิดสงครามในตะวันออกกลาง และไม่สามารถนำเข้าน้ำมันและก๊าซแอลพีจีได้ 4 เดือน และ 2.กรณีแหล่งก๊าซในเมียนมาไม่สามารถส่งก๊าซเข้าระบบได้ประมาณ 10-15 วัน

ทั้งนี้ ในกรณีเกิดสงครามในตะวันออกกลางนั้น กระทรวงมีแผนที่จะเตรียมโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการแก้ปัญหาระยะยาว ส่วนกรณีแหล่งก๊าซในเมียนมาหยุดจ่ายก๊าซฯ นั้น จะให้มีการสำรองน้ำมันเตาและน้ำมันเชื้อเพลิงเต็มพิกัดเช่นเดียวกับก่อนหน้านี้ที่มีการซ่อมแท่นขุดเจาะก๊าซแหล่งซอติก้าในเมียนมา ขณะที่แผนการรับมือเฉพาะหน้าจะเป็นการรณรงค์ให้ประชาชนประหยัดพลังงาน และอาจมีการเวียนปิดไฟที่ไม่จำเป็น

นอกจากนี้ กระทรวงพลังงานจะติดตามสถานการณ์ราคาน้ำมันอย่างใกล้ชิด และยืนยันว่าหากราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลปรับเพิ่มขึ้นจนมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ กระทรวงจะใช้กลไกของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเข้าไปดูแลราคาทันที

นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. กล่าวว่า ปตท.สนับสนุนให้รัฐบาลดำเนินโครงการตั้งคลังน้ำมันทางยุทธศาสตร์ จากปัจจุบันที่ภาครัฐให้ผู้ค้าและโรงกลั่นเป็นผู้สำรองน้ำมัน โดยเฉพาะในช่วงที่ราคาน้ำมันลดต่ำลงจึงเป็นโอกาสที่น่าสนใจมาก "ถามว่ารัฐเอาเงินจากไหน ตั้งกองทุนระดมทุนก็ได้ เอาเงินจากกองทุนน้ำมันก็ได้" นายเทวินทร์ กล่าว

นายสุธน บุญประสงค์ รองผู้ว่าการระบบส่ง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า กฟผ.คาดการณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (พีก) ในปี 2559 จะอยู่ระดับ 2.85-2.9 หมื่นเมกะวัตต์ โดยมีอุณหภูมิเฉลี่ยที่ 38.5-39 องศาเซลเซียส และประเมินว่าพีกดังกล่าวน่าจะเกิดช่วงปลายเดือน เม.ย. ขณะที่กำลังการผลิตไฟฟ้าในภาพรวมอยู่ที่ 3.9 หมื่นเมกะวัตต์ จึงมั่นใจได้ว่าระบบไฟฟ้าจะมีเพียงพอ

ส่วนสถานการณ์ภัยแล้งที่ทำให้การผลิตไฟฟ้าพลังงานน้ำลดลงเหลือเฉลี่ยไม่ถึง 1% ของกำลังผลิตรวม เทียบกับปีก่อนๆ มีกำลังผลิตเฉลี่ย 5% กฟผ.จะบริหารต้นทุนผลิตไฟฟ้าในภาพรวมให้มีต้นทุนต่ำที่สุด โดยให้โรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงได้ทั้งก๊าซธรรมชาติและน้ำมันเตา เปลี่ยนมาใช้น้ำมันเตาเป็นหลัก เนื่องจากราคาถูกกว่าก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี)