posttoday

ปฏิเสธผู้โดยสารปรับ3หมื่น

15 มีนาคม 2559

คมนาคมเร่งทำกฎหมายขนส่งฉบับใหม่ เตรียมลงโทษแท็กซี่ปฏิเสธผู้โดยสารปรับเริ่มต้น 3 หมื่น

คมนาคมเร่งทำกฎหมายขนส่งฉบับใหม่ เตรียมลงโทษแท็กซี่ปฏิเสธผู้โดยสารปรับเริ่มต้น 3 หมื่น

นายสนิท พรหมวงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) กระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมอยู่ระหว่างการจัดทำกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับด้านการขนส่งฉบับใหม่ โดยจะรวม พ.ร.บ.รถยนต์ พ.ศ. 2522 และ พ.ร.บ.ขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 เข้าด้วยกัน เพื่อลดความซ้ำซ้อนของกฎหมายและให้มีความสอดคล้องกัน

ทั้งนี้ พ.ร.บ.ฉบับใหม่ที่จัดทำขึ้นมานั้น จะเพิ่มอัตราโทษรถโดยสารสาธารณะที่กระทำความผิด ซึ่งรวมถึงรถแท็กซี่ด้วย เช่น การปฏิเสธผู้โดยสารจะเริ่มต้นค่าปรับที่ 3 หมื่นบาท จากปัจจุบันเริ่มต้นที่ 1,000 บาท รวมทั้งยังได้เพิ่มโทษให้ถึงขั้นจำคุก เช่น กรณีการกระทำของคนขับรถสาธารณะส่งผลให้เสื่อมเสียภาพลักษณ์ของประเทศในลักษณะรุนแรง เป็นการกระทำที่เป็นความไม่ปลอดภัยอุกฉกรรจ์ ทำร้ายร่างกายผู้โดยสาร โดยโทษปรับเพิ่มขึ้นเป็น 1-2 แสนบาท จากปัจจุบันจะมีโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท และโทษจำคุกด้วย

"ได้นำเสนอร่างให้กฤษฎีกาพิจารณาแล้ว กำลังเข้าสู่ขั้นตอนกระบวนการกฎหมาย ซึ่งต้องใช้ระยะเวลา คาดว่าปีนี้ไม่น่าจะเสร็จทัน แต่เชื่อว่าเมื่อกฎหมายบังคับใช้จะแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับการใช้บริการรถสาธารณะได้ เพราะคนขับรถจะคิดมากขึ้น หากจะกระทำความผิด เนื่องจากกฎหมายฉบับใหม่นี้มีโทษปรับที่เป็นยาแรงดูแลอยู่" นายสนิท กล่าว

สำหรับมาตรการคุมเข้มรถแท็กซี่ที่ปฏิเสธผู้โดยสารตามนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นั้น กรมได้ลงพื้นที่ตรวจสอบอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือน ต.ค. 2558 จนถึงปัจจุบัน โดยพื้นที่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลได้เข้าไปตรวจสอบจุดบริการแท็กซี่รับส่งผู้โดยสารจำนวนมาก เช่น ท่าอากาศยานดอนเมือง ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ สถานีรถไฟดอนเมือง สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส หมอชิต และย่านราชประสงค์ เป็นต้น

ขณะที่ในต่างจังหวัดกรมจะเข้าไปตรวจสอบเมืองท่องเที่ยวสำคัญๆ เช่น เกาะสมุย ภูเก็ต เชียงใหม่ หาดใหญ่ และพัทยา หากพบรถแท็กซี่คันไหนปฏิเสธรับผู้โดยสารจะปรับในอัตราสูงสุด คือ 1,000 บาท จากเดิมจะปรับในอัตราต่ำ คือไม่เกิน 500 บาท หากกระทำผิดเป็นครั้งที่ 2 จะเพิกถอนใบอนุญาตทันที

"กรมเข้มงวดกับการใช้กฎหมายมาก เพราะนอกจากโทษปรับแล้ว คนขับแท็กซี่จะต้องอบรมอีก 3 ชั่วโมงด้วย ซึ่งปัจจุบันกรมมีระบบเก็บข้อมูลรถโดยสารสาธารณะที่กระทำความผิดแล้ว ทำให้การตรวจสอบรถแท็กซี่ที่กระทำผิดซ้ำดำเนินการได้ไม่ยาก ดังนั้นจึงฝากแจ้งไปยังผู้โดยสารที่พบปัญหาของรถโดยสารสาธารณะเหล่านี้สามารถแจ้งทะเบียนรถเข้ามาที่กรมได้ทันที ซึ่งกรมจะติดตามผู้กระทำผิดลงโทษต่อไป" นายสนิท กล่าว