posttoday

ริบ8หมื่นล้านหมุนศก.

15 มีนาคม 2559

สำนักงบประมาณคาดมีงบที่ก่อหนี้ไม่ทัน 31 มี.ค. เข้าข่ายถูกริบ 8.82 หมื่นล้านบาท ชงนายกฯ ใช้กระตุ้นเศรษฐกิจ

สำนักงบประมาณคาดมีงบที่ก่อหนี้ไม่ทัน 31 มี.ค. เข้าข่ายถูกริบ 8.82 หมื่นล้านบาท ชงนายกฯ ใช้กระตุ้นเศรษฐกิจ

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลแจ้งว่า สำนักงบประมาณประเมินว่าจะมีรายการจัดซื้อจัดจ้างในปีงบ 2559 ของส่วนราชการต่างๆ ที่ไม่สามารถลงนามสัญญาจัดซื้อจัดจ้างได้ทันวันที่ 31 มี.ค.นี้ และต้องถูกริบงบมาตั้งเป็นงบกลางรายการเงินสำรองจ่าย เพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ภายใต้ร่าง พ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่าย พ.ศ. 2559 ก้อนแรก 8.82 หมื่นล้านบาท

ขณะที่การจัดสรรงบที่ริบมาไปใช้ในรายการต่างๆ ภายใต้ร่าง พ.ร.บ.โอนงบฯ ให้ส่วนราชการเสนอขอจัดสรรงบไปให้สำนักงบประมาณพิจารณาให้ความเห็นชอบ จากนั้นจะเสนอเรื่องไปให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รับทราบหรืออนุมัติอีกครั้ง และกำหนดเป็นรายการใช้จ่ายภายใต้ร่าง พ.ร.บ.โอนงบฯ ก่อนนำร่าง พ.ร.บ.โอนงบฯ เสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบในวันที่ 10 พ.ค. และเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) วันที่ 26 พ.ค.นี้

"เมื่อวันที่ 3 มี.ค.ที่ผ่านมา สำนักงบประมาณได้แจ้งให้ทุกส่วนราชการเร่งรัดการจัดซื้อจัดจ้างรายการลงทุนที่ยังไม่ได้ก่อหนี้ หากรายการใดมีความสำคัญและจำเป็นให้ชี้แจงเหตุผล พร้อมทั้งจัดทำแผนและระยะเวลาที่จะก่อหนี้ให้ชัดเจน จากนั้นให้เสนอเรื่องมายังสำนักงบประมาณภายในวันที่ 25 มี.ค.นี้ เพื่อจะได้ทราบว่ามีวงเงินที่จะลงนามในสัญญาได้ภายในวันที่ 31 มี.ค. และลงนามสัญญาในเดือนต่อๆ ไปเท่าใด" รายงานข่าวระบุ

ก่อนหน้านี้ นายสมศักดิ์ โชติรัตนะศิริ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ระบุว่า จะมีรายการที่ก่อหนี้ไม่ทันและต้องถูกริบเข้าเป็นงบกลางประมาณ 5 หมื่นล้านบาท โดยงบดังกล่าวจะถูกนำไปใช้ลงทุนโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจอื่นๆ

สำหรับการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2559 ณ วันที่ 4 มี.ค. พบว่า มีการเบิกจ่ายงบ 1.21 ล้านล้านบาท จากงบทั้งหมด 2.72 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 49.88% สูงกว่าเป้าหมาย 1.65% แต่หากพิจารณาแยกเป็นการเบิกจ่ายเฉพาะงบลงทุนจะพบว่า มีการเบิกจ่าย 1.25 แสนล้านบาท จากงบลงทุนทั้งหมด 5.44 แสนล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมาย 10.61% และมีการก่อหนี้แล้วทั้งสิ้น 2.98 แสนล้านบาท หรือ 54.78%

นอกจากนี้ สำนักงบประมาณคาดว่าตั้งแต่วันที่ 4 มี.ค.-31 มี.ค. 2559 จะมีการก่อหนี้รายจ่ายลงทุนอีก 7.09 หมื่นล้านบาท ทำให้มีรายการลงทุนที่ก่อหนี้ผูกพันเพิ่มเป็น 3.68 แสนล้านบาท หรือ 80.63% และจะมีรายจ่ายลงทุนคงเหลือ 8.82 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น 1.รายการที่ไม่สามารถก่อหนี้ได้ 5.77 หมื่นล้านบาท และ 2.รายการที่มีการก่อหนี้ไม่เต็มวงเงินและเงินเหลือจ่าย 3.05 หมื่่นล้านบาท

ภาพประกอบข่าว