posttoday

ปตท.กระทุ้งรัฐชี้ขาดแหล่งก๊าซ

11 มีนาคม 2559

ซีอีโอ ปตท.ขอภาครัฐให้ความชัดเจนแนวทางบริหารจัดการแหล่งปิโตรเลียม 2 แหล่ง ภายในปีนี้ ก่อนตัดสินใจลงทุนเพิ่ม-หนุนเปิดสำรวจพื้นที่ทับซ้อน

ซีอีโอ ปตท.ขอภาครัฐให้ความชัดเจนแนวทางบริหารจัดการแหล่งปิโตรเลียม 2 แหล่ง ภายในปีนี้ ก่อนตัดสินใจลงทุนเพิ่ม-หนุนเปิดสำรวจพื้นที่ทับซ้อน

นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. เปิดเผยว่า ต้องการให้ภาครัฐเร่งสรุปแนวทางการบริหารจัดการแหล่งสัมปทานปิโตรเลียม 2 แหล่ง คือ แหล่งบงกช และแหล่งเอราวัณ ที่จะหมดสัมปทานลงในปี 2565-2566 ให้ชัดเจนภายในปีนี้ เพื่อให้ผู้ประกอบการมีเวลาสำรวจและผลิตปิโตรเลียม เนื่องจากการประเมินศักยภาพแปลงสำรวจต้องใช้เวลา 3 ปี และต้องใช้เวลาขุดเจาะอีก 3 ปี

"สิ่งที่ผู้รับสัมปทานต้องการ คือ ความชัดเจนจากภาครัฐว่า เมื่อสัมปทานหมดอายุแล้วเกิดอะไรขึ้น คนเดิมได้ทำต่อหรือไม่ หรือจะเปิดรายใหม่ทำ เพราะหากรัฐตัดสินใจว่าสัมปทานหมดแล้วจะให้รายใหม่ทำ ผู้รับสัมปทานเดิมจะได้ไม่ต้องลงทุนต่อ แต่ถ้าจะให้รายเก่าทำต่อไปก็จะได้รู้ว่ามีเงื่อนไขอะไรบ้าง และควรจะเจรจาให้เสร็จภายในปีนี้" นายเทวินทร์ กล่าว

นายเทวินทร์ ระบุว่า ในมุมมองของผู้รับสัมปทานเห็นว่า การนำระบบสัมปทานมาใช้กับแหล่งปิโตรเลียมทั้งสองแหล่งน่าจะเป็นรูปแบบที่เหมาะสมที่สุด เนื่องจากปริมาณสำรองปิโตรเลียมในขณะนี้เหลืออยู่ไม่มากแล้ว และหลุมที่ขุดเจาะง่ายๆ ก็แทบไม่มีแล้ว รวมทั้งผู้รับสัมปทานต้องปรับตัวทั้งในแง่การปฏิบัติตามกฎหมายที่เปลี่ยนไป และการลงบัญชี จึงไม่คุ้มที่จะไปเปลี่ยนแปลงระบบ แต่ในที่สุดแล้วหากภาครัฐเลือกนำระบบแบ่งปันผลผลิต (พีเอสซี) มาใช้แทน ก็ต้องกำหนดส่วนแบ่งที่เหมาะสม เพราะหากเรียกส่วนแบ่งมากเกินไปจะไม่มีใครกล้าลงทุน

นายเทวินทร์ ยังกล่าวว่า ขณะนี้ปริมาณสำรองปิโตรเลียมและก๊าซธรรมชาติในประเทศไทยเหลืออยู่ไม่มาก เห็นได้จากในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา มีการเปิดสัมปทานไป 3 รอบ แต่สำรวจพบปริมาณสำรองปิโตรเลียมรวมกันยังน้อยกว่าปริมาณการใช้ปิโตรเลียมของประเทศไทยในช่วง 1 ปี และการเปิดสัมปทาน 20 รอบที่ผ่านมา พบว่าการเปิดสัมปทานครั้งที่ 1 เมื่อ 40 ปีที่แล้ว พบปริมาณสำรองปิโตรเลียม 80% เทียบกับการเปิดสัมปทาน 19 ครั้งหลังสุด มีการพบปริมาณสำรองเพียง 20%

"ต้องยอมรับว่าแหล่งปิโตรเลียมพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา เป็นพื้นที่ที่ยังไม่มีการพัฒนาและเป็นแหล่งใหญ่ ถ้ารัฐบาลทั้งสองประเทศตกลงกันได้เร็วก็จะดี เพราะปริมาณสำรองในไทยใกล้หมดแล้ว ประกอบกับกระบวนการสำรวจและผลิต ต้องใช้เวลาเกือบ 10 ปี ถ้าเริ่มวันนี้อีก 10 ปีจึงจะผลิตได้" นายเทวินทร์ กล่าว

นายเทวินทร์ กล่าวถึงการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ว่า ภาครัฐควรเปิดสัมปทานโดยเร็วที่สุด เพราะเลื่อนการเปิดมา 5 ปีแล้ว และต้องเข้าใจด้วยว่าแม้ว่าจะเปิดสัมปทานรอบใหม่ ก็จะพบแหล่งปิโตรเลียมที่มีปริมาณสำรองไม่ใหญ่ เพราะปริมาณสำรองในประเทศขณะนี้ไม่ได้มีมากเหมือนที่เข้าใจกัน และไม่สามารถทดแทนความต้องการใช้ในแต่ละปีได้ แต่การเปิดให้สำรวจจะเพิ่มโอกาสในการหาปริมาณสำรองปิโตรเลียมเพิ่มเติม

"หากเปิดสำรวจปิโตรเลียมรอบใหม่ ก็ยังไม่แน่ใจว่าจะมีคนสนใจแค่ไหน และจริงๆ แล้วอยากให้เปิดตั้งแต่ 5 ปีที่แล้ว เพราะเป็นช่วงที่ราคาน้ำมันแพง 100 กว่าเหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ขณะที่การชะลอการเปิดสัมปทานออกไปอาจมีผลเสียมากกว่า ถ้ายื้อต่อไปอีก โอกาสที่มีผู้สนใจมาลงทุนก็น้อยลงไป หรืออาจไม่มีคนมาสำรวจ แม้แต่ตอนนี้เองหลายรายหยุดการผลิตไปบ้างแล้ว" นายเทวินทร กล่าว