posttoday

โซนนิ่งอุตฯ15จ. ผังเมืองคุมใช้พื้นที่

09 มีนาคม 2559

เดินหน้าปั้นอินดัสเทรียล โซนนิ่ง 15 พื้นที่ ประสานวางผังเมืองรองรับการส่งเสริมลงทุน

เดินหน้าปั้นอินดัสเทรียล โซนนิ่ง 15 พื้นที่ ประสานวางผังเมืองรองรับการส่งเสริมลงทุน

นายพสุ โลหารชุน อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จะเร่งศึกษาโครงการพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมอย่างมีศักยภาพเพื่อรองรับการลงทุน (อินดัสเทรียล โซนนิ่ง) โดยในปีนี้จะดำเนินการใน 15 จังหวัด ได้แก่ จ.เชียงราย เชียงใหม่ พิษณุโลก กำแพงเพชร นครสวรรค์ ราชบุรี ปทุมธานี หนองคาย ร้อยเอ็ด อุดรธานี อุบลราชธานี ระนอง ชุมพร สุราษฎร์ธานี และกระบี่ และเตรียมข้อมูลเพื่อศึกษาอินดัสเทรียล โซนนิ่ง อีก 2 จังหวัด ได้แก่ จ.นครพนม และนราธิวาส ตามนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ระยะที่ 2

อธิบดีกรมโรงงานฯ ชี้แจงว่า หลังจากจัดทำโซนนิ่งพื้นที่อุตสาหกรรมในแต่ละจังหวัดเสร็จแล้ว จะส่งข้อมูลให้กับกรมโยธาธิการและผังเมือง และคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.) เพื่อใช้ประกอบการจัดทำผังเมืองให้สอดคล้องกับการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม และพื้นที่เกษตรกรรม เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาผังเมืองในอนาคต โดยเชื่อว่าการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้น 20-50% อุตสาหกรรมชั้นสูงจะมีมูลค่าเพิ่มอีก 2-3 เท่า เนื่องจากขณะนี้มีหลายจังหวัดกำหนดพื้นที่ห้ามตั้งโรงงานอุตสาหกรรม ส่งผลให้ผลิตผลทางการเกษตรตกต่ำตามไปด้วย

ขณะนี้กรมโรงงานฯ ได้จัดทำโซนนิ่งพื้นที่อุตสาหกรรมไปแล้ว 19 จังหวัด เช่น จ.พระนครศรีอยุธยา สระบุรี ชลบุรี ระยอง ปราจีนบุรี ฯลฯ และพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน 5 จังหวัด ได้แก่ จ.ตาก มุกดาหาร สระแก้ว ตราด และสงขลา

ขณะที่ความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาผังเมืองในพื้นที่ อ.มาบตาพุด จ.ระยอง ที่คณะกรรมการผังเมืองในพื้นที่ปรับลดลงจาก 4 หมื่นไร่ ลงเหลือ 2 หมื่นไร่ ล่าสุดทุกฝ่ายในพื้นที่มาบตาพุดเห็นชอบตรงกันว่า จะกำหนดพื้นที่อุตสาหกรรมเป็น 3.4 หมื่นไร่แล้ว คาดว่าจะพิจารณาและประกาศเป็นกฎหมายในเร็วๆ นี้

นายพสุ ชี้แจงว่า หลักเกณฑ์การจัดทำอินดัสเทรียล โซนนิ่ง จะพิจารณาจากลักษณะพื้นที่ทางกายภาพให้เหมาะสม มีวัตถุดิบเพียงพอ มีการเชื่อมโยงระหว่างภาคการเกษตรกับภาคอุตสาหกรรม การใช้สาธารณูปโภคอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่เกิดปัญหากับชุมชน และก่อปัญหาสิ่งแวดล้อม ซึ่งเชื่อว่าจะเห็นการลงทุนเพิ่มขึ้น