posttoday

เตือน10เขื่อนวิกฤตน้ำ

03 มีนาคม 2559

กรมชลฯ เตือน 10 เขื่อนวิกฤต เตรียมดึงน้ำตายจากเขื่อนสำรองใช้ พื้นที่เสี่ยงวิกฤตประปา 61 สาขา

กรมชลฯ เตือน 10 เขื่อนวิกฤต เตรียมดึงน้ำตายจากเขื่อนสำรองใช้ พื้นที่เสี่ยงวิกฤตประปา 61 สาขา

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า สถานการณ์ภัยแล้งในขณะนี้ส่งผลให้มี 10 เขื่อนที่มีปริมาณน้ำน้อยอยู่ในระดับวิกฤต ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ กรมชลประทาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะร่วมกันปรับแผนบริหารจัดการเพื่อให้พ้นวิกฤตไปให้ได้ โดยบางเขื่อนอาจต้องมีการดึงน้ำตายหรือน้ำก้นเขื่อนในบางแห่งมาใช้ ซึ่งล้วนแต่เป็นเขื่อนที่เคยมีการนำน้ำก้นเขื่อนมาใช้ในอดีต

อย่างไรก็ตาม สำหรับในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา ขอยืนยันว่า จะมีน้ำใช้สำหรับการอุปโภคบริโภคไปจนถึงเดือน ก.ค.อย่างแน่นอน

ทั้งนี้ ในการประชุมคณะกรรมการอำนวยการบูรณาการแก้ไขปัญหาวิกฤตภัยแล้ง พบว่า มีพื้นที่เสี่ยงวิกฤตขาดแคลนน้ำ 42 จังหวัด 152 อำเภอ ซึ่งได้มีการมอบให้ 4 กระทรวง คือ กระทรวงเกษตรฯ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เข้าไปช่วยเหลือในการกระจายน้ำจากแหล่งต่างๆ ที่กรมชลฯ ได้มีการสำรวจไว้ ซึ่งการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) ระบุว่า มีพื้นที่วิกฤตน้ำประมาณ 61 สาขา และเฝ้าระวัง 4 สาขา มีพื้นที่เสี่ยงสูง 12 สาขา คณะกรรมการจึงมอบหมายให้ กปภ.ไปประสานงานกับกรมชลฯ ในการหาแหล่งน้ำดิบ

นอกจากนี้ ได้มอบหมายให้เร่งขุดเจาะบ่อบาดาล ลดแรงดันน้ำ การช่วยเหลือด้านน้ำดิบของกรมชลฯ การดูแลคุณภาพน้ำ ซึ่ง กปภ.จะเฝ้าระวังปัญหาน้ำเค็มที่บางปะกง บางคล้า ฉะเชิงเทรา ไม่ให้เกินมาตรฐานด้วย

นายสุเทพ น้อยไพโรจน์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ใน 10 เขื่อน ที่มีปริมาณน้ำน้อย ได้แก่ เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนแม่งัด เขื่อนห้วยหลวง เขื่อนคลองศรียัด เขื่อนบางพระ เขื่อนกระเสียว เขื่อนลำปาว เขื่อนแม่กวง เขื่อนจุฬาภรณ์ เขื่อนลำพระเพลิง จึงได้มีการปรับแผนบริหารการใช้น้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์

ทั้งนี้ ที่เขื่อนแม่งัด จ.เชียงใหม่ จะมีการส่งน้ำเป็นรอบเวรปริมาณ  1.2 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.)/สัปดาห์ ซึ่งเพียงพอต่อการใช้อุปโภคบริโภค เขื่อนแม่กวง จ.เชียงใหม่ ได้ตกลงกับ กปภ.ต่อท่อเพื่อสูบน้ำจากน้ำตายก้นเขื่อนมาใช้และได้ขอความร่วมมือเกษตรกรในลำพูนงดทำนาปรัง เขื่อนห้วยหลวง จ.อุดรธานี ได้ประสานกับทางจังหวัดในการนำน้ำก้นเขื่อนมาใช้กรณีขาดแคลน ไม่เกิน 2 ล้าน ลบ.ม. ขณะที่ลุ่มเจ้าพระยามีน้ำใช้การได้ใน 4 เขื่อนใหญ่ 2,945 ล้าน ลบ.ม. จะระบายวันละ 18 ล้าน ลบ.ม.

ขณะที่การเฝ้าระวังน้ำทะเลหนุน นั้น อธิบดีกรมชลฯ กล่าวว่า ในลุ่มเจ้าพระยาจะมีการเปิดปิดประตูตามจังหวะน้ำทะเลขึ้นลง เพื่อป้องกันน้ำเค็มเข้าระบบ ซึ่งขณะนี้เกณฑ์ความเค็มยังไม่เกินค่ามาตรฐาน

สำหรับการประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยแล้งเพิ่มเติมจากเดิมที่ครอบคลุม 47 อำเภอ 21 ตำบล 1,902 หมู่บ้านนั้น ได้ประกาศพื้นที่ จ.นครราชสีมา เพิ่มอีก 10 อำเภอ 62 ตำบล 659 หมู่บ้าน

นายสุรพล จารุพงศ์ โฆษกกระทรวงเกษตรฯ กล่าวว่า การเพาะปลูกข้าวนาปรังลุ่มน้ำเจ้าพระยา พบว่ามีพื้นที่ทำนาปรังไปแล้ว 1.9 ล้านไร่ มีการเก็บเกี่ยวแล้ว 5.2 แสนไร่ รอการเก็บเกี่ยวอีก 1.4 ล้านไร่