posttoday

เอกชนเชื่อฟินเทคเกิดแน่ เร่งรัฐวางแผนป้องกันฟองสบู่

01 มีนาคม 2559

ไทยยังมีการใช้อี-เพย์เมนต์น้อยกว่าประเทศอื่นๆ ดังนั้น การสนับสนุนเรื่องของฟินเทคของภาครัฐจะเข้ามาช่วยเพิ่มโอกาส

โดย...ณัฏฐ์ธยาน์ สุทธิเจริญ

การผลักดันสตาร์ทอัพที่จะเข้ามาทำตลาดฟินเทคที่ยังถือว่าเป็นเรื่องใหม่ในตลาดนั้น สิ่งที่ควรป้องกันคือความปลอดภัยจากการเข้าใช้งาน ข้อกฎหมายที่จะเข้ามาควบคุมรวมทั้งภาษีสำหรับนักพัฒนาและนักลงทุน ถือว่าเป็นโอกาสและการเตรียมความพร้อมเพราะไทยยังมีการใช้จ่ายผ่านช่องทางออนไลน์ไม่มากนัก และยังมีโอกาสที่จะเตรียมในเรื่องฐานรากของระบบได้ทัน

ปุณณมาศ วิจิตรกุลวงศา กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหาร บริษัท แอสเซนด์ กรุ๊ป กล่าวว่า การใช้จ่ายผ่านช่องทางออนไลน์ของคนไทยอยู่ที่ 50% จ่ายเงินปลายทาง 30% และอื่นๆ อีก 20% ชี้ให้เห็นว่าประเทศไทยยังมีการใช้อี-เพย์เมนต์น้อยกว่าประเทศอื่นๆ ดังนั้น การสนับสนุนเรื่องของฟินเทคของภาครัฐจะเข้ามาช่วยเพิ่มโอกาสในการใช้จ่ายให้ดีขึ้น

“การเข้าใช้งานอี-คอมเมิร์ซของคนไทยมีแนวโน้มโตขึ้นเรื่อยๆ และส่วนใหญ่เป็นการช็อปผ่านมือถือ ดังนั้น การที่ภาครัฐเข้ามาสนับสนุนด้านฟินเทค จะช่วยสร้างประโยชน์ในการใช้จ่ายให้ประชาชนมหาศาล เพราะจะเกิดโมเดลในการออม กู้ และลงทุนมากกว่าแค่จ่ายบิลหรือชำระค่าใช้จ่ายแบบเดิมๆ” ปุณณมาศ กล่าว

ขณะที่ในต่างประเทศต้นทุนด้านฟินเทคของสตาร์ทอัพหรือภาคธุรกิจมีน้อยมากจนเกือบจะฟรี หากภาครัฐจะเข้ามาส่งเสริม ต้นทุนจากการใช้งานเหล่านี้ควรจะราคาถูก ทั้งยังลดปัญหาเงินกู้นอกระบบได้ส่วนหนึ่ง ซึ่งทรูมันนี่ไม่ได้เป็นแค่อี-วอลเล็ตที่ชำระเงินหรือจ่ายบิลเท่านั้น แต่วางแผนขยายให้เป็นฟินเทคด้วย โดยมองเรื่องของการลงทุน ชำระเงินออนไลน์และกู้ยืมควบคู่กันทุกด้านและสนับสนุนสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ให้เข้ามาทำธุรกิจด้านนี้

“เรื่องเงินกู้นอกระบบอาจจะไม่ได้หมดไป แต่แอพพลิเคชั่นลักษณะอี-เพย์เมนต์ของไทยก็เริ่มมองหาลูกเล่นใหม่ นั่นคือการปล่อยเงินกู้แบบถูกต้องตามกฎหมายและได้ทำงานร่วมกับภาคธนาคารบ้างแล้ว โดยมีต้นแบบจากอาลีบาบา คือ ให้นักลงทุนที่ไม่ต้องการฝากเงินเพื่อรอดอกเบี้ย สามารถเข้ามาลงเงินให้แก่ธุรกิจเอสเอ็มอีและรอเงินดอกเบี้ยกลับคืน ซึ่งทรูมันนี่กำลังศึกษาเรื่องนี้ พร้อมทั้งคุยรายละเอียดกับทางธนาคารแห่งประเทศไทยอยู่” ปุณณมาศ กล่าว

ด้าน เรืองโรจน์ พูนผล ผู้จัดการกองทุน 500 ตุ๊กตุ๊กส์ กล่าวว่า เป็นเรื่องดีที่ภาครัฐจะเข้ามาสนับสนุนกลุ่มสตาร์ทอัพแต่ไม่อยากให้เป็นผู้ร่วมทุน (Venture Capital) เอง เพราะจะส่งผลกระทบในระยะยาว ดังนั้น จึงควรวางโรดแมปให้ชัดเจนและมีทีมงานย่อยที่เข้ามาดูส่วนนี้

“ผมมีการพูดคุยและยื่นข้อเสนอกับทางภาครัฐไปบ้าง แต่ไม่ได้เข้าไปทำงานกับทางภาครัฐเอง ส่วนตัวมองว่าการสนับสนุนเป็นเรื่องดี แต่สิ่งที่รัฐไม่ควรทำมี 3 ข้อ คือ 1.ภาครัฐไม่ควรเข้าไปแข่งในสิ่งที่เอกชนทำไว้ได้ดีแล้ว 2.รัฐควรสนับสนุนธุรกิจสตาร์ทอัพที่มีอยู่เดิมให้แข็งแรง 3.ไม่ควรทำงานซ้ำซ้อนในแต่ละหน่วยงาน จะช่วยให้โครงสร้างของสตาร์ทอัพเกิดประสิทธิภาพที่ดีกว่าการแข่งกันเองระหว่างรัฐและเอกชน”เรืองโรจน์ กล่าว

ทั้งนี้ เรื่องของฟินเทคจะประกอบด้วย เพย์เมนต์ วอลเล็ต อินเวสต์ (การลงทุน) และเลนดิ้ง (การกู้ยืม) ซึ่งทั้งหมดเกิดขึ้นแล้วในต่างประเทศ ขณะที่เมืองไทยอยู่ในช่วงเรียนรู้ และจะบูมในอีก 2-3 ปีข้างหน้า รัฐจึงควรวางแผนให้ดีป้องกันปัญหาฟองสบู่ในอนาคต

“เราจะเห็นภาคธนาคารและสตาร์ทอัพรุ่นใหม่เข้ามาทำตลาดฟินเทคมากขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องดีเพราะจะเกิดการแข่งขันและเพิ่มทักษะไปพร้อมกัน สตาร์ทอัพจะมีพันธมิตรที่แข็งแกร่ง ช่วยให้ธุรกิจโต แต่ภาครัฐควรมีกรอบบังคับที่ดูแลชัดเจนเพื่อป้องกันปัญหาเงินเฟ้อและปล่อยเงินกู้ที่ควบคุมไม่ได้จนเกิดภาวะฟองสบู่ แต่ควรทำในระดับที่เหมาะสม”เรืองโรจน์ กล่าว