posttoday

ฟองสบู่ทีวีดิจิทัลแตกปีนี้ลดคนชัด

01 มีนาคม 2559

นักวิชาการชี้ฟองสบู่ทีวีดิจิทัลแตกแล้ว แนะสร้างคอนเทนต์ เน้นคุณภาพและแตกต่าง เพื่ออยู่รอด

นักวิชาการชี้ฟองสบู่ทีวีดิจิทัลแตกแล้ว แนะสร้างคอนเทนต์ เน้นคุณภาพและแตกต่าง เพื่ออยู่รอด

นายมานะ ตรีรยาภิวัฒน์ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ภาพรวมทีวีดิจิทัลในปีนี้ ฟองสบู่ในด้านของบุคลากรได้แตกไปเป็นที่เรียบร้อย เนื่องจากก่อนหน้านี้มีการใช้เงินจำนวนมาก เพื่อซื้อตัวบุคลากรเข้ามาเสริมความแข็งแกร่งให้กับช่อง แต่เมื่อสถานการณ์ทีวีดิจิทัล ไม่เป็นอย่างที่คาดหวัง จึงทำให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล เริ่มปรับโครงสร้างองค์กร คัดเหลือแต่ตัวจริงเข้าร่วมงาน เพื่อความคล่องตัวใน การดำเนินธุรกิจ

ทั้งนี้ ปัญหาฟองสบู่ทีวีดิจิทัลที่กำลังแตกอยู่ในขณะนี้ เริ่มเห็นสัญญาณมาตั้งแต่ช่องทีวีดิจิทัลของนางพันธุ์ทิพา ศกุณต์ไชย เจ้าของทีวีดิจิทัล 2 ช่อง คือ ไทยทีวีและโลก้า ที่มีปัญหาในด้านของการทำทีวีดิจิทัลในช่วงกลางปี 2558 ที่ผ่านมา ซึ่งหลังจากนั้นก็เริ่มมีผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล ทยอยปลดพนักงานออก

สำหรับภาพรวมทีวีดิจิทัลในปีนี้ มองว่า การแข่งขันจะมีความรุนแรง มากขึ้น เนื่องจากทุกคนต้องพยายามหา รายได้เข้ามาเพื่อหล่อเลี้ยงช่อง ซึ่งกลุ่มที่จะเหนื่อยมากหน่อยคือ กลุ่มผู้ประกอบการที่อยู่ใน 5-6 อันดับสุดท้าย ดังนั้น ผู้ประกอบการที่จะไปต่อได้ ต้องมีกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน และมีคอนเทนต์ที่ แตกต่างไปจากคู่แข่ง
 
นายสมเกียรติ อ่อนวิมล ผู้ผลิตรายการโทรทัศน์อิสระ กล่าวว่า การปลดพนักงานออก ถือเป็นการแก้ปัญหาด้วยวิธีการแบบฝรั่ง ซึ่งถือเป็นวิธีการที่ผิด เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นคือ ตัวรายการที่ไม่ได้คุณภาพ เมื่อรายการไม่มีคุณภาพ จึงทำให้ไม่มีคนดู และไม่มีโฆษณาเข้ามา ซึ่งในที่สุดก็ไม่มีรายได้ ดังนั้น อันดับแรกที่ควรปรับ คือ คุณภาพของรายการ ไม่ใช่การปรับลดพนักงานเหมือนกับที่สปริงนิวส์ หรือวอยซ์ทีวีทำ เพราะการแก้ปัญหาดังกล่าวทำให้พนักงานขวัญเสีย

"วิธีการแก้ปัญหาที่ดีของทีวีดิจิทัล คือ การสร้างคนให้มีคุณภาพ โดยวิธี การดังกล่าว มันใช้เวลานาน 1-2 ปี จึงจะได้พนักงานที่มีคุณภาพตรงกับความต้องการเข้ามาร่วมงาน ซึ่งหลายช่อง เลือกที่จะปรับลดคนมากกว่า" นาย สมเกียรติ กล่าว

ด้าน นายเมฆินทร์ เพ็ชรพลาย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วอยซ์ ทีวี กล่าวว่า จากกระแสข่าวที่ออกมาว่าบริษัทจะปรับลดพนักงานอีก 70 คนนั้น ขอยืนยันว่ายังไม่มีแผนการดำเนินงานในเรื่องดังกล่าว เนื่องจากก่อนหน้านี้บริษัทมีการปรับโครงสร้างองค์กรด้วยการปรับลดพนักงานจำนวน 57 คนไปแล้ว เพื่อความคล่องตัวในการดำเนินธุรกิจ

อย่างไรก็ดี ในส่วนของแผนการดำเนินธุรกิจปีนี้ บริษัทได้เตรียมงบ 800 ล้านบาท ลงทุนในด้านของคอนเทนต์ และอื่นๆ เพื่อขยายฐานผู้ชมให้เพิ่มขึ้น เนื่องจากสิ้นปีนี้ บริษัทมีแผนที่จะขึ้นเป็นอันดับ 1 ของช่องข่าว จากปัจจุบันติดอยู่ในอันดับ 1 ใน 3 โดยล่าสุดได้มีการปรับผังรายการใหม่ในช่วงไพซม์ไทม์ 2 ช่วง ประกอบด้วยเวลา 07.00-09.00 น. กับ 17.30- 22.30 น. เพื่อนำรายการใหม่ทั้งในส่วนของข่าวและรายการไลฟ์สไตล์มาออกอากาศ

นายเมฆินทร์ กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของรายการใหม่ที่จะนำมาออกอากาศ บริษัทได้จับมือกับพันธมิตรทางธุรกิจ เพื่อมาผลิตรายการใหม่ในช่วงไพซม์ไทม์ให้ ประกอบด้วย มติชน เจเอสแอล แบรนด์เอจ ทราเวล แชนแนล มันนี่แชนแนล และสมาร์ท เอสเอ็มอี แชนแนล

"แนวทางการดำเนินธุรกิจของบริษัทนับจากนี้ จะมองการเติบโตในระยะยาวและการเป็นผู้นำของสื่อยุคใหม่ ด้วยการพัฒนากระบวนการทำงานของบุคลากรบนแนวคิด ออนไลน์ เซ็นทริค และมัลติ แทสกิ้ง" นายเมฆินทร์ กล่าว