posttoday

อุตสาหกรรมฟินเทคเขย่าโลก เอเชียตื่นตัวรับ

28 กุมภาพันธ์ 2559

กระแสการลงทุนใน FinTech นั้น เป็นนวัตกรรมการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคไปสู่สิ่งใหม่ ที่น่าจับตามากที่สุดอย่างหนึ่ง

โดย...ทีมข่าวต่างประเทศโพสต์ทูเดย์

กระแสการลงทุนในเทคโนโลยีการเงิน หรือ FinTech นั้น นับเป็นนวัตกรรมการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคไปสู่สิ่งใหม่ (Disruptive) ที่น่าจับตามากที่สุดอย่างหนึ่ง

เพราะนอกจากจะทลายธุรกรรมการเงินแบบเดิมที่เคยผูกขาดในมือธนาคารหรือสถาบันการเงิน ให้ผู้บริโภคมีตัวเลือกและลูกเล่นใหม่ๆ ที่สอดรับกับยุคสมัย ก็ยังเปิดโอกาสสำคัญให้กับผู้ประกอบการหน้าใหม่ที่ใช้ไอเดียและนวัตกรรม (Startup) ได้เข้ามาร่วมผลักดันยุคสมัยของเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนอีกด้วย

แม้จะมีจุดเริ่มต้นตั้งแต่ต้นทศวรรษ 2000 แต่อาจกล่าวได้ว่าฟินเทคเริ่มพัฒนาอย่างรวดเร็วมาตั้งแต่ปี 2008 เนื่องจากเป็นช่วงที่ระบบการเงินในสหรัฐกำลังล่มสลายในวิกฤตการณ์ทางการเงิน การที่ภาคการเงินมัวแต่วุ่นอยู่กับการล้างหนี้เสียและตัวเลขขาดทุนมหาศาล ซ้ำยังเผชิญวิกฤตศรัทธาครั้งใหญ่ ทำให้แวดวงซิลิคอน วัลเลย์ มองเห็นโอกาสเปลี่ยนแปลงโลกการเงินใหม่ ซึ่งสอดรับกับยุคที่โลกเข้าถึงอินเทอร์เน็ตและสมาร์ทโฟน

จากตัวเลขการลงทุนในปี 2008 ที่ประมาณ 930 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 33.2 หมื่นล้านบาท) การลงทุนในฟินเทคทั่วโลกได้ขยายตัวขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วง 6 ปีมานี้จนอยู่ที่ประมาณ 1.2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 4.28 แสนล้านบาท) ในปี 2014 จากการรวบรวมข้อมูลและประเมินโดยบริษัท แอคเซนเจอร์ โดยในจำนวนนี้เป็นการเพิ่มขึ้นในทวีปยุโรปมากที่สุดถึง 215% ไปอยู่ที่ 1,480 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 5.28 หมื่นล้านบาท) ขณะที่สหรัฐยังคงเป็นพื้นที่การลงทุนใหญ่ที่สุดของอุตสาหกรรมนี้

ผู้บริโภคปันใจจากแบงก์ซบฟินเทค

ปัจจุบันอาจสามารถจำกัดประเภทของธุรกิจฟินเทคแบ่งออกได้เป็น 6 ประเภทใหญ่ๆ คือ ธุรกรรมการโอนเงิน ธุรกรรมชำระเงิน ธุรกิจสินเชื่อแบบ P2P แพลตฟอร์มซื้อขายหลักทรัพย์ การระดมทุน Equity Funding และประเภทอื่นๆ นอกเหนือจากนี้ ทว่าการแบ่งประเภทขึ้นอยู่กับแต่ละบริษัทผู้วิจัย

การเข้ามาเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เห็นได้ชัดมากที่สุดทั่วโลกนั้น อยู่ในธุรกรรมการโอนเงินและชำระเงินเป็นหลัก เนื่องจากได้ปัจจัยสนับสนุนสำคัญจากเทคโนโลยีพื้นฐาน ที่หลายประเทศทั่วโลกสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงได้มากขึ้น นำไปสู่การแพร่หลายของสมาร์ทโฟนและดีไวซ์ต่างๆ ยิ่งเมื่อฟินเทคที่มีข้อได้เปรียบด้านความคล่องตัวและสามารถปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว จึงยิ่งเอื้อให้สามารถเข้ามาแย่งส่วนแบ่งการตลาดจากธนาคารได้มากขึ้น

สแควร์ (Square) ของเจ้าพ่อทวิตเตอร์ แจ็ค ดอว์ซีย์ สร้างจุดเด่นจากบริการอุปกรณ์รูดบัตรเครดิตที่ติดตั้งได้ง่ายๆ กับไอโฟนหรือไอแพด ซึ่งนิยมอย่างมากสำหรับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่ต้องการความคล่องตัวในการรับชำระเงิน ล่าสุด บริษัทเครดิตการ์ดระดับโลกอย่าง วีซ่า อิงค์ (Visa Inc.) ได้เข้าร่วมลงทุนในสแควร์เพิ่มเป็น 10%

ส่วนธุรกิจสินเชื่อแบบ P2P นั้นถือว่าเติบโตอย่างโดดเด่นมากที่สุดในจีน ซึ่งมีเม็ดเงินมหาศาลถึงราว 7,600 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 2.71 แสนล้านบาท) โดยส่วนหนึ่งเป็นเพราะธนาคารพาณิชย์ในจีนไม่ค่อยนิยมปล่อยสินเชื่อให้เอสเอ็มอีและพ่อค้าแม่ค้ารายย่อย จึงทำให้ธุรกิจปล่อยสินเชื่อประเภทนี้ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ส่วนที่โดดเด่นที่สุดในสหรัฐนั้นย่อมหนีไม่พ้น เล็นดิ้ง คลับ (Lending Club) ที่ยังคงเป็นแพลตฟอร์ม P2P ที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีการปล่อยกู้มากกว่า 1.1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 3.9 แสนล้านบาท)

เอเชียตื่นตัวพร้อมรับฟินเทค

กระแสการลงทุนฟินเทคในเอเชียนับว่ากำลังมาแรงตามฝั่งตะวันตกมาติดๆ นำโดยฮ่องกงและสิงคโปร์ ที่ถือเป็นศูนย์กลางการลงทุนด้านฟินเทคในภูมิภาคนี้

กองทุนระดับโลกอย่าง เทมาเซก โฮลดิงส์ ร่วมลงทุนกับบริษัทสัญชาติอังกฤษ ฟันด์ดิง เซอร์เคิล ที่เป็นแพลตฟอร์มกลางปล่อยเงินกู้โดยตรงระหว่างผู้กู้และผู้ปล่อยเงินในแบบเพียร์ทูเพียร์ (P2P) ซึ่งระดมเงินทุนรอบใหม่ไปได้ถึง 150 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 5,355 ล้านบาท) เมื่อปีที่ผ่านมา และแม้แต่กลุ่มบริษัทยักษ์ใหญ่ในอินโดนีเซียอย่าง ลิปโป ก็ยังเข้าไปร่วมลงทุนในบริษัทที่มีแววรุ่งในสหรัฐ ในการระดมทุนรอบล่าสุดที่ซิลิคอน วัลเลย์ มาแล้ว หลังจากเมื่อปลายปีที่ผ่านมาเพิ่งประกาศแผนเวนเจอร์ แคปิตอลใหม่ ในวงเงินลงทุน 150 ล้านเหรียญสหรัฐ

ศักยภาพของอุตสาหกรรมฟินเทคยังอาจวัดได้ส่วนหนึ่งจากการตื่นตัวของธนาคารทั่วโลกที่ตั้งงบประมาณก้อนใหญ่เพื่อปรับตัวด้านเทคโนโลยี โดยส่วนหนึ่งเป็นการเร่งพัฒนาตัวเองเพื่อสู้กับคู่แข่ง และอีกส่วนหนึ่งทำหน้าที่เป็น “นักลงทุน” ในรูปแบบของเวนเจอร์ แคปิตอล (Venture Capital) เข้าไปร่วมลงทุนในบริษัทฟินเทคที่มีศักยภาพ

ธนาคารโอซีบีซี แบงก์ใหญ่สุดรายหนึ่งในสิงคโปร์ เปิดตัวเทคโนโลยี “วันทัช” เมื่อต้นปีก่อน โดยใช้การจดจำ “ลายนิ้วมือ” เป็นกุญแจ ขณะที่ธนาคารรายใหญ่ที่สุดในสิงคโปร์ ดีบีเอส เร่งลงทุนด้านเทคโนโลยี และมีรายงานว่าได้เข้าไปซื้อหุ้น 10% จากบริษัทฟินเทครายหนึ่งในศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ที่ใช้เทคโนโลยีจดจำเสียง (Voice recognition)

ในปี 2558 ที่ผ่านมา ธนาคารกลางสิงคโปร์ (เอ็มเอเอส) ยังประกาศสนับสนุนงบประมาณ 225 ล้านเหรียญสิงคโปร์ (ราว 5,715 ล้านบาท) ภายในเวลา 5 ปีข้างหน้า เพื่อสนับสนุนการเติบโตของอุตสาหกรรมฟินเทคโดยเฉพาะในกลุ่มสตาร์ทอัพหน้าใหม่ ให้ขยายตัวอย่างเป็นระบบ 

ส่วนในอินโดนีเซีย คณะกรรมการกำกับดูแลการบริการทางการเงิน (เอฟเอสเอ) ปรับตัวร่วมมือทำงานกับกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งคาดว่าจะมีการออกกฎระเบียบที่ควบคุมดูแล และกระตุ้นการเติบโตของอุตสาหกรรมฟินเทคในอินโดนีเซียออกมาภายในปีนี้ ส่วนในฮ่องกง แม้จะมีเสียงเรียกร้องให้รัฐเร่งปรับตัวเพื่อควบคุมดูแลฟินเทคให้รัดกุมขึ้น ทว่าก็ยังไม่มีสัญญาณการเปลี่ยนแปลงใดๆ

“เอ็มเอเอสเป็นผู้สนับสนุนฟูมฟักภาคดิจิทัลและนวัตกรรมในสิงคโปร์ และหนุนภาคธนาคารด้วย โดยใช้เงินทุนจำนวนนี้ทดสอบเรื่องต่างๆ ที่พวกเขาเคยไม่เชื่อมั่นก่อนหน้านี้ ผมคิดว่าสิงคโปร์จะกลายเป็นสมรภูมิของการเปลี่ยนผ่านทางนวัตกรรมที่สำคัญในเอเชีย แข่งกับฮ่องกง จีน และอินเดีย”ไซรัส ดารุวลา กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไอดีซี ไฟแนนเชียล อินไซท์ กล่าวกับชาแนลนิวส์เอเชีย