posttoday

ลุย8ยุทธศาสตร์เชื่อมค้าโลก

26 กุมภาพันธ์ 2559

สศช.วาง 8 ยุทธศาสตร์พัฒนาธุรกิจบริการ ลงทุนเพื่อการวิจัยและพัฒนา เชื่อมภูมิภาค

สศช.วาง 8 ยุทธศาสตร์พัฒนาธุรกิจบริการ ลงทุนเพื่อการวิจัยและพัฒนา เชื่อมภูมิภาค

รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า คณะอนุกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ด้านการต่างประเทศ ประเทศเพื่อนบ้าน และภูมิภาค ภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560-2564) ที่มีนายเกริกไกร จีระแพทย์ อดีต รมว.พาณิชย์ และสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เป็นประธาน ได้กำหนดวิสัยทัศน์ร่วมกันว่าประเทศไทยเป็นฐานการผลิตที่เป็นเลิศและเป็นจุดเชื่อมโยงกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การค้า และการบริการในอนุภูมิภาคและภูมิภาค

ทั้งนี้ ได้ร่วมกันวางประเด็นยุทธศาสตร์หลักในการจัดทำแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 ในทางการค้าและความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านและภูมิภาคจำนวน 8 ข้อ ได้แก่ 1.คิดเสรี เปิดเสรี และเปิดโอกาส 2.เตรียมความพร้อมในเชิงรุกและเชิงรับ 3.สร้างความเป็นเลิศทางการผลิตทั้งสินค้าและบริการ 4.พัฒนาทรัพยากรบุคคลของไทยให้มีความเป็นสากล 5.ขยายการค้าและการลงทุนกับประเทศในอนุภูมิภาค 6.ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยไปลงทุนในต่างประเทศ 7.บูรณาการในระดับอนุภูมิภาคและภูมิภาค และ 8.ปรับปรุงกลไกความร่วมมือระหว่างประเทศ

สำหรับแนวทางการพัฒนาการค้าระหว่างประเทศที่คณะอนุกรรมการฯ ได้กำหนดแนวทางในการพัฒนา ประกอบด้วย 9 ข้อสำคัญ ได้แก่ 1.เร่งพัฒนาความเชื่อมโยงด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ ภายใต้ความร่วมมืออนุภูมิภาคและภูมิภาคอาเซียน 2.ผลักดันและส่งเสริมให้เกิดห่วงโซ่มูลค่า/ห่วงโซ่การผลิต ทั้งด้านการค้า การลงทุน และบริการ 3.ส่งเสริมให้ไทยเป็นฐานการประกอบธุรกิจ การให้บริการ ทางการศึกษา การเงิน สุขภาพ โลจิสติกส์ และการลงทุนเพื่อการวิจัยและพัฒนา 4.มุ่งเน้นบทบาทและการมีส่วนร่วมของไทยในองค์การระหว่างประเทศในการผลักดันการพัฒนาในอนุภูมิภาค ภูมิภาค รวมทั้งประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคอื่น

แนวทางที่ 5 สร้างความเป็นหุ้นส่วนการพัฒนากับประเทศในอนุภูมิภาค ภูมิภาค และนานาประเทศ 6.ส่งเสริมความร่วมมือกับอนุภูมิภาค ภูมิภาค และนานาชาติในการสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน อาหาร สิ่งแวดล้อม และการบริหารจัดการภัยพิบัติ 7.สร้างองค์ความรู้ด้านการต่างประเทศ และให้ความรู้ความเข้าใจด้านการต่างประเทศและผลประโยชน์ที่มีต่อการพัฒนาประเทศต่อภาคส่วนต่างๆ 8.ปรับตัวตามกลไก กฎระเบียบ และมาตรฐานทั้งในระดับอนุภูมิภาคและในระดับโลก และ 9.บูรณาการความร่วมมือของหน่วยงานต่างๆ ภายในประเทศและภารกิจด้านการต่างประเทศ

"ในร่างยุทธศาสตร์ดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มศักยภาพในการใช้ประโยชน์ความได้เปรียบจากที่ตั้งของประเทศให้เกิดประโยชน์สูงสุดเป็นจุดเชื่อมโยงสำคัญให้ไทยเป็นฐานการผลิต การลงทุน และบริการ" แหล่งข่าวเปิดเผย

ภาพประกอบข่าว