posttoday

กลยุทธ์ก้าวข้ามกำแพง มาตรการกีดกัน NTB

05 กุมภาพันธ์ 2559

ในยุคการค้าเสรีต่อไปการแข่งขันจะไม่ได้แข่งกันแค่เรื่องต้นทุนเท่านั้น แต่จะมีเรื่องของมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (เอ็นทีบี)

โดย...ชลธิชา ภัทรสิริวรกุล

ในยุคการค้าเสรีต่อไปการแข่งขันจะไม่ได้แข่งกันแค่เรื่องต้นทุนเท่านั้น แต่จะมีเรื่องของมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (เอ็นทีบี) เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย และความต่างในการพัฒนาของแต่ละประเทศก็ทำให้เอ็นทีบีมีระดับความต่างกันไป

การมีมาตรฐานจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะถ้าประเทศไหนไม่มีมาตรฐานเลย หรือมาตรฐานไม่เข้มแข็งพอก็จะเข้าตลาดไปแข่งขันในตลาดโลกได้ลำบาก

เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้น สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน) หรือไอทีดี จึงได้อภิปรายเรื่อง “กลยุทธ์เจาะกำแพงมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี” ขึ้นมา โดย สมพร
อิศวิลานนท์
นักวิชาการอาวุโส สถาบันคลังสมองของชาติ ให้ความเห็นว่า ไทยจำเป็นต้องสร้างมาตรฐาน เพราะจะเป็นกลไกไปสู่การค้าและทำให้สามารถก้าวข้ามมาตรการเอ็นทีบีต่างๆ ได้ ซึ่งผู้ประกอบการส่งออกจะต้องตามติดให้ทันสถานการณ์ ไม่เช่นนั้นจะถูกเขี่ยตกเวทีการค้าโลกไป

ทั้งนี้ ได้มีการวิจัยเกี่ยวกับแนวทางการลดมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีในภาคสินค้าเกษตร ปศุสัตว์ และประมง ในกลุ่มประเทศประชาคมอาเซียนบวก 6 (จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย อินเดีย และนิวซีแลนด์)

สมพร บอกว่า ความท้าทายของไทยในการส่งออกสินค้าเกษตรนั้นมีอยู่ เพราะปัจจุบันไทยมีสัดส่วนการส่งออกสินค้าเกษตรรวม 1.3-1.4 ล้านล้านบาท โดยจำนวนนี้ 20% เป็นการส่งออกไปในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งหากไทยต้องการจะเป็นศูนย์กลางอาหารในภูมิภาคนี้จะต้องปรับตัว ไม่เช่นนั้นอาจโดนแย่งตลาดไปได้ โดยจะต้องปรับตัวด้วยการดูปริมาณความต้องการในตลาดโลก แล้วผลิตสินค้าออกมาให้พอดีกับความต้องการ เพราะหากตลาดต้องการน้อย แต่ยังฝืนผลิตออกมามากก็ไม่ได้

นอกจากนี้ จะต้องยอมรับมาตรฐานที่มีอยู่ขององค์การการค้าโลก (ดับเบิ้ลยูทีโอ) และที่สำคัญ ไทยจำเป็นต้องยกระดับไปสู่ห่วงโซ่มูลค่าเพิ่มให้ได้ โดยจะต้องอัพเกรดเกษตรกรรายย่อยที่มีอยู่กว่า 80% ให้มีประสิทธิภาพ สามารถก้าวทันกับบริบทการค้าโลกที่เปลี่ยนไปได้ ซึ่งหมายความว่าจะต้องผูกโยงตลาดให้เข้ากับระบบการผลิตอย่างเป็นธรรมและมีประสิทธิภาพนั่นเอง

ด้าน เณศรา สุขพานิช รองคณบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ และอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัยได้ให้ข้อมูลว่า การส่งออกสินค้าเกษตรทั้งผักและผลไม้ ปศุสัตว์และประมง ล้วนแต่ต้องเจอกับมาตรการเอ็นทีบีเกี่ยวกับด้านสุขอนามัยและสวัสดิภาพสัตว์ทั้งนั้น ซึ่งในอนาคตจะมีการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านอาเซียนด้วยกัน เพราะต้องยอมรับว่าสินค้าเกษตรที่เพาะปลูกกันในอาเซียน ส่วนใหญ่มีความคล้ายคลึงหรือเป็นประเภทเดียวกัน จึงทำให้แต่ละประเทศต้องมีมาตรการเอ็นทีบีออกมาเพื่อปกป้องสินค้าตัวเอง

ทั้งนี้ มีข้อเสนอแนะในการแก้ปัญหาอุปสรรคการค้าจากมาตรการเอ็นทีบี โดยแนะให้ภาครัฐควรส่งเสริมให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมให้ความเห็นและประเด็นหารือมากขึ้น ซึ่งข้อเสนอแนะรายกลุ่มสินค้ามีดังนี้

สินค้าเกษตร นอกจากศึกษาวิเคราะห์มาตรการเอ็นทีบีของประเทศคู่ค้าแล้ว เพื่อให้ไทยสามารถส่งออกสินค้าเกษตรได้มากขึ้น ภาครัฐต้องเจรจาต่อรองให้ประเทศผู้นำเข้ายอมรับใบรับรองมาตรฐานจากประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น เพื่อลดอำนาจผูกขาดในการออกใบอนุญาต

ขณะที่ภาครัฐเองก็ต้องปรับปรุงกฎระเบียบและจัดทำพัฒนาการบริการตรวจสอบรับรองผลไม้ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และเพื่อรักษาภาพลักษณ์ของทั้งประเทศจากการกระทำผิดของผู้ส่งออกบางราย ควรมีระบบให้คุณและโทษแก่ผู้ส่งออกด้วย ซึ่งหน่วยงานรับผิดชอบอาจเป็นกรมการค้าต่างประเทศ และภาครัฐควรระบุองค์ประกอบสารเคมีต่างๆ  ที่ใช้ในการเกษตรให้ครบถ้วน เพื่อป้องกันปัญหาสารพิษตกค้างในผลไม้หรือข้าว พร้อมส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตสินค้าคุณภาพที่ประเทศผู้นำเข้าต้องการ และจัดการการผลิตให้สามารถป้อนตลาดนำเข้าได้เพียงพอ

เณศรา กล่าวอีกว่า การส่งออกผลไม้ไทยไปจีนมีประเด็นที่น่าสนใจมาก เพราะไทยสามารถส่งออกผลไม้ไปจีนได้ 23 ชนิด แต่การนำเข้าผักและผลไม้ไปจีนต้องขอใบอนุญาตจากกระทรวงพาณิชย์จีน และผู้นำเข้าผลไม้จะต้องมีใบอนุญาตรับรองก่อนจึงจะนำเข้าได้

นอกจากนี้ ยังมีมาตรการที่เกี่ยวกับราคาและภาษี แม้อัตราภาษีนำเข้าจะลดเหลือศูนย์ตามข้อตกลงเอฟทีเอ แต่จีนยังมีการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้นำเข้า 13% สำหรับผลไม้สด และ 17% สำหรับผลไม้แปรรูป นอกจากนั้นยังมีปัญหาเกี่ยวกับความไม่ชัดเจนของการเปลี่ยนแปลงราคาประเมินที่หน้าด่านศุลกากรด้วย

“จีนมีกำแพงภาษีค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับประเทศอื่น และการปฏิบัติไม่ยึดตามกฎเกณฑ์มากนัก แต่อาศัยความสัมพันธ์ใกล้ชิดของผู้ค้า จึงยังสามารถทำการค้าได้สะดวก และปัจจุบันมีผู้ซื้อจากจีนเข้ามาตั้งบริษัทรับซื้อในไทยเพื่อส่งออกไปจีนโดยตรง ซึ่งผู้ประกอบการไทยจะต้องเตรียมตัวตั้งรับให้ดี”เณศรา กล่าว

สำหรับสินค้าปศุสัตว์ เสนอให้ภาครัฐดำเนินการเจรจาทวิภาคีเพื่อขอความร่วมมือในการขยายโควตาสินค้าภายในกรอบการเจรจาที่มีอยู่แล้ว เช่น ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทยกับญี่ปุ่น (เจเทป้า) ซึ่งญี่ปุ่นเป็นประเทศนำเข้าที่สำคัญอยู่แล้ว ภาครัฐโดยกรมปศุสัตว์และเอกชน ร่วมมือกันกำหนดพื้นที่การผลิตหรือโซนนิ่งที่ชัดเจน และมีระบบสร้างความมั่นใจในการควบคุมโรคไม่ให้เกิดระบาดข้ามพื้นที่ เพื่อป้องกันการยกเลิกการนำเข้าสินค้าปศุสัตว์จากประเทศไทยทั้งหมด เนื่องจากไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่ามาจากพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคหรือไม่ รวมทั้งควรมีกลไกสำหรับช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อยที่ได้รับผล
กระทบจากมาตรการเอ็นทีบีด้วย

ขณะที่สินค้าประมง ในด้านปริมาณไทยส่งออกเป็นอันดับ 3 ของโลก เพื่อลดผลกระทบมาตรการเอ็นทีบี รัฐบาลและเอกชนรายใหญ่ควรส่งเสริมงานวิจัยในการสร้างนวัตกรรมและการพัฒนาในภาคเอกชนเพื่อหลีกเลี่ยงมาตรการบางอย่างที่บางประเทศใช้เป็นมาตรการกีดกันทางการค้า และยังเป็นการยกระดับคุณภาพสินค้าให้สูงขึ้น

นอกจากนี้ ควรสร้างระบบตรวจสอบย้อนกลับได้ที่สมบูรณ์มากขึ้น รวมถึงมีการบังคับใช้กฎหมายที่จริงจัง โปร่งใส และควรใช้เทคโนโลยีในการเพิ่มประสิทธิภาพการทำประมงให้เพิ่มสูงขึ้น