posttoday

ชงรัฐเพิ่มค่าตอบแทนซื้อยาง

04 กุมภาพันธ์ 2559

เกษตรฯ เล็งเพิ่มค่าตอบแทนสถาบันเกษตรกร เปิดจุดรับซื้อยาง 800 แห่งทั่วประเทศ ปปช. เข้มป้องซ้ารอยรับจำนำข้าว

เกษตรฯ เล็งเพิ่มค่าตอบแทนสถาบันเกษตรกร เปิดจุดรับซื้อยาง 800 แห่งทั่วประเทศ ปปช. เข้มป้องซ้ารอยรับจำนำข้าว

นางจินตนา ชัยยวรรณาการ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวง เกษตรและสหกรณ์ กล่าวภายหลังได้ลงพื้นที่ตรวจจุดรับซื้อน้ำยางสดของสหกรณ์การยางบ้านหนองคล้า และสหกรณ์การยางบ้านคลองโตนพัฒนา ต.เขาวิเศษ อ.วังวิเศษ จ.ตรัง ว่า สาเหตุที่สถาบันเกษตรกรทั่วประเทศเปิดจุดรับซื้อยางพาราตามโครงการแทรกแซงราคาของรัฐบาลระหว่างวันที่ 25 ม.ค.-30 มิ.ย. 2559 จำนวน 1 แสนตัน ไม่ครอบคลุมทั่วทุกพื้นที่เนื่องจากได้เงินค่าตอบแทนน้อยแค่ 1% ทำให้มีรายจ่ายไม่คุ้มทุน

นางจินตนา กล่าวอีกว่า ในช่วงนี้เกษตกรชาวสวนยางภาคใต้อยู่ระหว่างฤดูกาลปิดกรีดหน้ายาง แต่หากถึงฤดูกาลเปิดกรีดอีกภายใน 3-4 เดือนข้างหน้านี้ก็เตรียมจะเสนอให้รัฐบาลพิจารณาปรับเพิ่มค่าตอบแทนให้กับสถาบันเกษตรกรมากกว่าเดิม หรือให้มีรายได้คุ้มกับการลงทุน ขณะเดียวกันจะผลักดันให้เพิ่มจุดขายให้ได้มากที่สุด เพื่อรองรับปริมาณน้ำยางที่ออกสู่ตลาดอีกเป็นจำนวนมาก โดยจะขอเพิ่มจุดรับซื้อยางให้ได้มากกว่า 800 แห่งทั่วประเทศ จากปัจจุบันเปิดรับซื้อได้เพียง 265 จุดเท่านั้น

ด้าน นายบุญจง จีนมั่น ผู้จัดการสหกรณ์การยางบ้านหนองคล้า กล่าวว่า ปัญหาที่เกษตรกรไม่ค่อยเข้าร่วมโครงการดังกล่าว เนื่องจากรัฐบาลกำหนดให้เกษตรกรขายยางได้รายละไม่เกิน 150 กิโลกรัม ถือว่าน้อยเกินไป และเงินก็ล่าช้าจึงอยากให้เร่งขยายการรับซื้อยางต่อรายให้มากขึ้นพร้อมลดขั้นตอนเบิกจ่ายเงินให้รวดเร็วขึ้น

ขณะที่ ว่าที่ ร.ต.สมบัติ พูลสงวน ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ประจำ จ.พิจิตร พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ดูแลจุดรับซื้อยางที่องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ห้วยแก้ว อ.บึงนาราง เพื่อป้องกันมิให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยเหมือนกับโครงการรับจำนำข้าวที่ผ่านมา

นายอภิชน กระจ่างแสง ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการสงเคราะห์สวนยางจังหวัดพิจิตร กล่าวว่า ในเขตพื้นที่ จ.พิจิตร มีเกษตรกรทั้งหมด 136 ครัวเรือน ปลูกยางพาราบนพื้นที่จำนวน 1,666 ไร่ โดยได้เปิดกรีดยางไปแล้วจำนวน 825 ไร่ หรือจำนวน 102 ครัวเรือน สำหรับราคาที่รับซื้อเมื่อวันที่ 3 ก.พ.ที่ผ่านมา สูงกว่าราคาท้องตลาดจำนวน 2-5 บาท/กิโลกรัม

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของเกษตรกรที่มียางพารานอกเหนือจากที่จะเข้าโครงการก็ต้องนำไปขายตามกลไกของตลาด ซึ่งขณะนี้ทราบว่ายางแผ่นดิบแห้งรับซื้อกันอยู่ที่ 38 บาท/กิโลกรัม แต่ยางก้อนถ้วยรับซื้อกันอยู่ที่ 20 บาท/กิโลกรัม

นายทองจันทร์ แสงบุรมย์ เกษตรกร ต.ห้วยแก้ว อ.บึงนาราง จ.พิจิตร กล่าวว่า เกษตรกรรู้สึกพึงพอใจกับนโยบายของรัฐบาลที่ให้ดำเนินการช่วยเหลือเกษตกร ซึ่งครอบครัวมีอาชีพทำนาเป็นหลัก แต่ปลูกสวนยางเป็นรายได้เสริม เมื่อวันที่ 3 ก.พ.ได้นำยางก้อนถ้วยมาขายก็ได้เงิน 4,000 กว่าบาท จึงอยากฝากถึงรัฐบาลขอให้ดูแลชาวสวนยางต่อเนื่อง