posttoday

ธุรกิจคูปองโตรับอี-คอมเมิร์ซ

31 มกราคม 2559

ธุรกิจค้าปลีกและค้าขายหันไป “เปิดดีล” หรือให้ส่วนลดกับลูกค้าผ่านทางเว็บไซต์และแอพพลิเคชั่น

โดย...ทีมข่าวต่างประเทศโพสต์ทูเดย์

“คูปองส่วนลด” เคยเป็นสิ่งที่แฝงอยู่ในหน้าหนังสือพิมพ์หรือนิตยสาร รอให้ผู้อ่านได้ตัดออกมาเพื่อนำไปใช้ และคูปองส่วนลดก็กลายร่างออกไปในยุคดิจิทัลนี้ โดยส่วนใหญ่มักจะมาในรูปแบบคูปองทางอิเล็กทรอนิกส์ผ่านแอพพลิเคชั่นทางโทรศัพท์มือถือหรือเว็บไซต์

ธุรกิจส่วนลดทางออนไลน์จึงถือกำเนิดขึ้น ธุรกิจดังกล่าว คือ ธุรกิจที่คอยเป็นตัวกลางระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายผ่าน “คูปอง” ตามเว็บไซต์หรือแอพพลิเคชั่น และจะคอยเสนอคูปองส่วนลดเหล่านั้นให้กับผู้ใช้ ในขณะที่ทางธุรกิจได้รับค่าโฆษณาหรือตามที่ตกลงกันไว้กับค้าปลีกเป็นค่าตอบแทน

ในปี 2012 จากผลสำรวจพบว่า มากกว่า 79.8 ของนักช็อปมีการใช้คูปองอยู่เป็นประจำ ปรับตัวขึ้นจากเกือบ 15% จากช่วง 5 ปีก่อนหน้า และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นจนเกือบ 100% ภายในปี 2020 โดยสำหรับค้าปลีกหรือธุรกิจค้าขายแล้ว การใช้คูปองในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ช่วยให้ประหยัดค่าใช้จ่ายโฆษณาทางสิ่งพิมพ์ ซึ่งมักจะราคาสูงไปได้มากโข

เพราะฉะนั้น ธุรกิจค้าปลีกและค้าขายจึงหันไป “เปิดดีล” หรือให้ส่วนลดกับลูกค้าผ่านทางเว็บไซต์และแอพพลิเคชั่น ทางโทรศัพท์มือถืออย่างแพร่หลาย และสำหรับธุรกิจส่วนลดตัวกลางที่เป็นที่รู้จักกันดี คงหนีไม่พ้น “กรุ๊ปออน” ซึ่งก่อตั้งในปี 2006 และสามารถผลักดันตัวเข้าตลาดหุ้นไปได้ จนมีมูลค่าตลาดราว 5,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 1.79 แสนล้านบาท)

กรุ๊ปออนได้รับความชื่นชมจากสื่ออย่างมาก จนนิตยสารฟอร์บส์เคยพาดหัวกรุ๊ปออนว่า เป็นธุรกิจที่ “เติบโตเร็วที่สุดเท่าที่เคยมีมา” ท่ามกลางยุคดิจิทัลและพฤติกรรมของผู้บริโภค อย่างไรก็ตาม การพาดหัวและการรายงานข่าวตามสื่อมวลชน ทำให้ผู้คนคาดหวังต่อกรุ๊ปออนมาก

กรุ๊ปออนปิดตัวลงใน 4 ชาติยุโรป ได้แก่ ออสเตรีย โปรตุเกส สวิตเซอร์แลนด์ และยูเครน เมื่อวันที่ 26 ม.ค.ที่ผ่านมา ตามหลังจากที่ปิดสาขาในกรีซ ตุรกี และประเทศแถบสแกนดิเนเวีย ในขณะที่ในเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา กรุ๊ปออนประกาศปรับลดพนักงาน 1,100 ตำแหน่ง หลังดำเนินธุรกิจผิดพลาด มีการบริการลูกค้าที่ย่ำแย่ และมีคู่ค้า ซึ่งเป็นร้านอาหาร ร้องเรียนว่า ถูกกรุ๊ปออนข่มขู่หลังร้านอาหารได้รับรีวิวไม่ดี

ในขณะเดียวกัน การแข่งขันในธุรกิจส่วนลดก็เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ บรรดาสตาร์ทอัพต่างตบเท้าเข้าร่วม จนบางแห่งก็ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม 

ยกตัวอย่างเช่น แอพพลิเคชั่น “ลิตเติ้ล” สตาร์ทอัพจากอินเดีย ที่สามารถหาทุนได้ไม่ยากจากบริษัทเงินทุนถึง 50 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 1,790 ล้านบาท) โดยแม้กระทั่งจีไอซี กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ (เอสดับเบิลยูเอฟ) ของสิงคโปร์ยังเข้าร่วมลงทุนด้วย

ปัจจุบัน แอพพลิเคชั่นลิตเติ้ลครอบคลุมร้านอาหาร ภาพยนตร์ โรงแรม ร้านเสริมสวย ฟิตเนส สปา และภาคส่วนอื่นๆ มากกว่า 8,000 แห่ง และมีส่วนลดนำเสนอลูกค้านำเสนอลูกค้ามากถึง 2.7 หมื่นดีล ขณะที่วางแผนจะให้ถึง 5 หมื่นดีล ภายในเดือน มี.ค.

นอกจากนี้ ยังมีบรรดาสตาร์ทอัพอื่นๆ ที่กำลังมาแรง เช่น สนิปสแนป ซึ่งมีลูกค้าถึง 4 ล้านคน ทางกับสไลซ์ ธุรกิจสตาร์ทอัพค้นหารูปภาพจากแคนาดา กำลังจะควบรวมกิจการด้วยมูลค่า 6.5 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 232 ล้านบาท)

ความล้มเหลวของกรุ๊ปออนจึงไม่ใช่ตัวแทนของธุรกิจส่วนลด เพราะอีมาร์ เกเตอร์ บริษัทวิจัยการตลาดจากสหรัฐ ประเมินว่า การใช้คูปองผ่านทางโทรศัพท์มือถือนั้นมากขึ้นกว่า 5,000 ล้านใบ ในปี 2012 เป็นมากกว่า 1 หมื่นล้านใบในปี 2014 และจากการตบเท้าเข้าตลาดของธุรกิจส่วนลด ก็จะยิ่งทำให้การใช้งานคูปองของผู้บริโภคมีแนวโน้มมากขึ้นในอนาคต

ไม่ใช่เพียงธุรกิจคูปองเท่านั้นที่ได้ประโยชน์จากยุคดิจิทัล บรรดาธุรกิจรายย่อยก็สามารถคว้าโอกาสจากธุรกิจคูปองได้ด้วยเช่นกัน โดย ฮาเรศ คูมาร รองประธานฝ่ายการตลาดของมูฟเว็บ เว็บไซต์ข่าวสารเทคโนโลยีจากซานฟรานซิสโก เปิดเผยว่า ธุรกิจรายย่อยควรจับโอกาสการค้ามือถือยุคดิจิทัลให้ดี

“คุณมีลูกค้ามาอยู่หน้าประตูคุณแล้ว ดำเนินการให้เหมาะสมเพื่อลูกค้าจะได้ซื้อสินค้าคุณ” คูมาร กล่าว