posttoday

ครม.ตีกลับข้อเสนอเดินรถสายสีม่วง

27 มกราคม 2559

ครม.ตีกลับข้อเสนอ บีเอ็มซีแอล ลดสัญญาเดินรถสายสีม่วงในสัญญาที่ 5 เหลือ 1 ปี

ครม.ตีกลับข้อเสนอ บีเอ็มซีแอล ลดสัญญาเดินรถสายสีม่วงในสัญญาที่ 5 เหลือ 1 ปี

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติตีกลับข้อเสนอของบริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ (BMCL) ที่ขอเจรจาต่อรองในโครงการเดินรถไฟฟ้าสายสีม่วง สัญญา 5 ช่วงเตาปูน-บางซื่อ ระยะทาง 1 กิโลเมตร หรือต่อไปอีก 1 สถานี โดยขอลดระยะเวลาลงมาจากมติเดิมที่ให้เดินรถไปจนถึงสิ้นปี 2572 เนื่องจาก ครม.เห็นว่าข้อเสนอว่าจ้าง BMCL เดินรถ 1 สถานี กำหนดระยะเวลา 1 ปี ไม่สอดคล้องกับกำหนดเปิดเดินรถรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย (หัวลำโพงบางแค และบางซื่อ-ท่าพระ) ที่คาดว่าจะเปิดบริการในปลายปี 2561-2562

ขณะเดียวกัน มติ ครม.เมื่อวันที่ 28 ธ.ค. 2557 ให้เจรจากับ BMCL ในการเดินรถช่วง 1 สถานี ให้สัญญาสิ้นสุดในปี 2572 พร้อมกับสัญญาของรถไฟฟ้าสายเฉลิมรัชมงคล

ดังนั้น ที่ประชุม ครม.จึงมอบหมายให้กระทรวงคมนาคม และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ไปหารือกับคณะกรรมการตามมาตรา 13 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยเอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 เพื่อพิจารณาทบทวนเรื่องดังกล่าวอีกครั้ง

"ครม.ไม่ต้องการให้เกิด ช่องว่างของการเดินรถ 1 สถานี ดังนั้น จึงต้องพิจารณาระยะเวลาสัญญาให้พอดีกับทั้งการเปิดเดินรถสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย และสัญญาของสายเฉลิมรัชมงคลที่ สิ้นสุดในปี 2572 พร้อมกันนี้ให้กระทรวงคมนาคมและ รฟม.พิจารณาแนวทางในการให้บริการช่วงรอยต่อ 1 สถานี เมื่อเปิดเดินรถสายสีม่วงในเดือน ส.ค.นี้ เพื่ออำนวยความสะดวกประชาชน โดยคาดว่าจะเปิดเดินรถ 1 สถานี ได้ในกลางปี 2560" รมว.คมนาคม กล่าว

สำหรับการเดินรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ช่วงหัวลำโพงบางแค และบางซื่อ-ท่าพระนั้น กระทรวงอยู่ระหว่างการพิจารณาข้อเสนอของ รฟม.ก่อนที่จะเสนอไปที่คณะกรรมการพีพีพีเพื่อพิจารณารูปแบบการร่วมลงทุน

แหล่งข่าวจากบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) เปิดเผยว่า บริษัทได้เสนอไปยัง รฟม.เพื่อให้ทบทวนมติ ครม.ในการเดินรถไฟฟ้าสายสีม่วงสัญญาที่ 5 จากเดิมที่เคยกำหนดให้บริษัทเดินรถระยะยาวถึงปี 2572 ให้ทบทวนปรับมติเป็นเดินรถแบบปีต่อปี เนื่องจากเห็นว่าการลงทุนพัฒนาสถานีรถไฟฟ้าจำเป็นต้องใช้งบกว่า 1,000 ล้านบาท หากมีการเดินรถและจัดเก็บค่าโดยสารได้เพียง 1 สถานี จะไม่คุ้มต่อการลงทุน และในอนาคต รฟม.จะพัฒนารถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ช่วงบางซื่อ-ท่าพระ และช่วงหัวลำโพง-บางแค เปิดให้บริการ ซึ่งจะรวมสถานีเชื่อมจุดนี้ด้วยจึงจะคุ้มค่ากว่า หากเปิดประมูลการเดินรถให้เป็นระบบเดียวกัน