posttoday

ตลาดพีซีในเอเชียเผชิญความท้าทายหลังยอดร่วงต่อเนื่อง

26 มกราคม 2559

ไอดีซีเผยตลาดคอมพิวเตอร์พีซีในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกปี 58 เผชิญยอดขายที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง

ไอดีซีเผยตลาดคอมพิวเตอร์พีซีในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกปี 58 เผชิญยอดขายที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง

ไอดีซี เปิดเผยผลการศึกษาตลาดพีซีในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกประจำปี 2558 พบว่า ยอดจัดส่งพีซีทั้งหมดมีจำนวนแค่ 107.6 ล้านเครื่อง เปรียบเทียบกับปี 2557 ลดลง 7.7% (เปรียบเทียบปี 2557 กับปี 2556 ลดลง 5.7%) โดยไตรมาสสุดท้ายของปี 2558 ตลาดปรับลดลง 6.5% โดยมียอดจัดส่งเพียง 26.9 ล้านเครื่องเท่านั้น

มาเช็ค กอร์นิคกี ผู้จัดการฝ่ายงานศึกษาตลาดพีซีประจำไอดีซี เอเชียแปซิฟิก ระบุว่า การที่ผู้บริโภคเลือกซื้อพีซีน้อยลง ประกอบกับค่าเงินที่ผันผวนในหลายประเทศ ส่งผลให้ยอดขายหดตัวลงอย่างมาก โครงการลงทุนจากภาคเอกชนก็ต้องเลื่อนออกไป ขณะที่เอสเอ็มอีก็ยังคงรัดเข็มขัด

“ปี 2559 ยังคงเต็มไปด้วยความท้าทาย จากสภาพเศรษฐกิจที่ยังไม่ขยายตัวนัก และความผันผวนของตลาดการเงินในประเทศจีนยังคงส่งผลกระทบในแง่ลบต่อการลงทุนด้านไอทีแต่ละภูมิภาคด้วย” มาเช็ค กล่าว

ทั้งนี้ โครงการขนาดใหญ่ในภาคการศึกษาของประเทศไทยและอินเดียช่วยกระตุ้นตลาดได้บางส่วน แต่การชะลอตัวลงของเศรษฐกิจจีน ทำให้ภาพรวมของภูมิภาคในปี 2558 ไม่สดใส โดยมาตรการต่อต้านการคอร์รัปชั่นของรัฐบาลจีนส่งผลกระทบต่อการลงทุนของภาครัฐ ส่วนการลงทุนภาคเอกชนก็ถดถอยลงจากการหดตัวของภาคอุตสาหกรรม การก่อสร้างและเหมืองแร่ อีกทั้งผู้บริโภคก็ให้ความสำคัญกับการซื้อสมาร์ทโฟนมากกว่าพีซี

“อินโดนีเซียเป็นอีกหนึ่งประเทศที่ตลาดพีซีปรับตัวลดลงอย่างเห็นได้ชัด โดยมีสาเหตุมาจากภาครัฐลดการลงทุน ผู้บริโภคทั่วไปใช้จ่ายลดลง และปัญหาเรื่องปริมาณสินค้าคงคลังที่สูงเกินไป นอกจากนี้ตลาดในประเทศญี่ปุ่นก็หดตัวลงอย่างมาก  ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะปัญหาสินค้าคงคลังและการผันผวนของค่าเงินเยนตลอดทั้งปี” มาเช็ค ระบุ

ชัยกร จิววุฒิพงค์ นักวิเคราะห์ฝ่ายงานศึกษาตลาดพีซีประจำไอดีซีประเทศไทย เสริมว่า ตลาดพีซีในไทยปี 2558 มีทิศทางสวนทางกับตลาดระดับภูมิภาค โดยในปีที่ผ่านมาเติบโต 2% หลังจากหดตัวลงตลอดช่วง 3 ปีที่ผ่านมา เพราะแม้ผู้บริโภคจะใช้พีซีน้อยลง แต่ยังได้แรงหนุนจากการลงทุนของภาครัฐและภาคการศึกษา

ปัจจุบัน เลอโนโว ยังคงรักษาตำแหน่งผู้นำพีซีในภูมิภาคไว้ได้ แม้ว่ายอดขายในจีนจะลดลง ส่วน เดลล์ ครองอันดับ 2 ตามด้วย เอชพี ขณะที่ เอซุส แซงหน้าเอเซอร์ ขึ้นมาเป็นอันดับ 4