posttoday

โรงพยาบาลไทยถึงยุค แบ่งเซ็กเมนต์เฉพาะทางโต

25 มกราคม 2559

ธุรกิจโรงพยาบาลมีวัฏจักรเช่นเดียวกับธุรกิจอื่น เมื่อเติบโตจนเกือบเต็มที่ก็ต้องแตกเซ็กเมนต์ เพื่อรักษาการโต

โดย...ทีมข่าวธุรกิจตลาดโพสต์ทูเดย์

ธุรกิจบริการเพื่อสุขภาพ เป็นหนึ่งในธุรกิจดาวรุ่ง สร้างรายได้เข้าประเทศ เพราะไทยมีจุดแข็งเรื่องการบริการแบบไทย ทำให้ผู้ใช้บริการประทับใจ ที่สำคัญการรักษาพยาบาลในไทยมีชื่อเสียงมากไม่แพ้ประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ โดยที่ค่ารักษาพยาบาลถูก คุ้มค่ากว่า เป็นปัจจัยสำคัญทำให้ต่างชาติต้องการมาใช้บริการ

ชัยรัตน์ ปัณฑุรอัมพร กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สมิติเวช ผู้ดำเนินธุรกิจกลุ่มโรงพยาบาลสมิติเวช เปิดเผยว่า หลังจากนี้อาจยังเห็นกลุ่มโรงพยาบาลรวมตัวกันอีก รองรับความต้องการใช้บริการที่ไม่ใช่แค่คนไทยกว่า 60 ล้านคน แต่รองรับตลาดเอเชียแปซิฟิกที่มีกว่า 4,600 ล้านคน เพราะไทยมีชื่อเสียงด้านการรักษาพยาบาลระดับโลก ทำให้คนต่างชาติอยากมาใช้บริการ ซึ่งปริมาณความต้องการมากกว่าไปรักษาพยาบาลที่สิงคโปร์ เพราะค่ารักษาพยาบาลในไทยถูกกว่าสิงคโปร์มากถึง 30%

อย่างไรก็ตาม การรวมตัวของกลุ่มโรงพยาบาลจะไม่เกิดมากเท่าในอดีต เนื่องจากจำนวนโรงพยาบาลที่มีเริ่มสอดคล้องความต้องการรักษาพยาบาล เมื่อถึงจุดหนึ่งก็จะเริ่มหยุดสร้างโรงพยาบาลทั่วไปเพิ่ม เพราะอัตราการเติบโตของกลุ่มนี้เริ่มอยู่ในระดับปกติ 10-20% โดยกลุ่มโรงพยาบาลจะมุ่งไปสู่การสร้างโรงพยาบาลเฉพาะทางมากขึ้น เพื่อเป็นผู้เชี่ยวชาญสูงด้านใดด้านหนึ่ง ตอบโจทย์กลุ่มผู้รักษาพยาบาลที่ต้องการแพทย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางสูง

สำหรับกลุ่มโรงพยาบาลสมิติเวชคงจะมุ่งไปที่การให้บริการรักษาเชี่ยวชาญเฉพาะทางมากขึ้น 3 ด้าน ได้แก่ 1.เด็ก 2.ทางเดินอาหาร 3.กระดูก โดยด้านเด็ก ปีที่ผ่านมาได้เป็นพันธมิตรกับโรงพยาบาลเด็กดอร์นเบเคอร์ มหาวิทยาลัย โอเรกอน เฮลท์ แอนด์ ไซน์ แลกเปลี่ยนความรู้พัฒนาการแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์กัน เพื่อเป็นศูนย์กลางความเชี่ยวชาญด้านเด็ก ผลักดันให้โรงพยาบาลเด็กสมิติเวชก้าวสู่มาตรฐานบริการสากลเต็มรูปแบบ

ทั้งนี้ 1 ปีหลังความร่วมมือ ทำให้มีการส่งต่อผู้ป่วยเด็กจากโรงพยาบาลอื่นมายังโรงพยาบาลเด็กสมิติเวชเพิ่มขึ้น 38% เมื่อเทียบกับก่อนมีความร่วมมือ การผ่าตัดหัวใจเด็กเพิ่ม 18% ขณะที่รายได้จากการรักษาพยาบาลเด็กเพิ่ม 6-7%

ขณะที่ครึ่งปีหลังนี้มีแผนใช้งบ 800 ล้านบาท สร้างอาคารโรงพยาบาลเด็กสมิติเวช ศรีนครินทร์ ในพื้นที่เดียวกับโรงพยาบาลสมิติเวช ศรีนครินทร์ ซึ่งมีพื้นที่ 44 ไร่ ปัจจุบันใช้พื้นที่ไปกว่า 10 ไร่เท่านั้น เบื้องต้นมองไว้ว่าจะเป็นอาคาร 10 ชั้น คาดว่าใช้เวลากว่า 2 ปีสร้างเสร็จ ซึ่งจะส่งผลให้โรงพยาบาลเด็กสมิติเวช ศรีนครินทร์ มีอาคารรองรับผู้ป่วยเด็กโดยเฉพาะ จากปัจจุบันให้บริการในอาคารเดียวกับโรงพยาบาลสมิติเวช ศรีนครินทร์

“การสร้างโรงพยาบาลต้องรองรับความต้องการของชุมชนได้ ปัจจุบันมีปัญหาเด็กเสียชีวิตมากจากการรอคอยการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลภาครัฐ ซึ่งมีไม่เพียงพอแก่ความต้องการ การขยายโรงพยาบาลเด็กสมิติเวชจึงเป็นกลยุทธ์สำคัญปีนี้ โดยจุดแข็งมีกุมารแพทย์ 150 คน เครื่องมือแพทย์ทันสมัย รักษาโรคยากได้ เช่น การผ่าตัดซับซ้อนในเด็กอย่างการผ่าตัดหัวใจที่ปริมาณความต้องการเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง รองลงมาคือโรคเลือดที่ต้องรักษาด้วยการเปลี่ยนถ่ายไขกระดูกในเด็ก ซึ่งต้องใช้วิทยาการสูง”

ชัยรัตน์ กล่าวว่า นอกเหนือจากขยายโรงพยาบาลเด็กสมิติเวชจะให้ความสำคัญกับการบริการรักษาโรคยากที่โรงพยาบาลอื่นอาจยังไม่พร้อม ผลักดันเป็นศูนย์แพทย์เฉพาะทางที่มีชื่อเสียง เช่น ศูนย์ระบบทางเดินอาหาร โรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท ร่วมมือกับโรงพยาบาลซาโนในญี่ปุ่น ซึ่งมีชื่อเสียงด้านระบบทางเดินอาหาร นำเทคนิคใหม่เข้ามาใช้รักษา อนาคตจะขยายเป็นสถาบันขนาดใหญ่ด้านระบบทางเดินอาหาร เพราะความต้องการด้านนี้สูง เนื่องจากมะเร็งระบบทางเดินอาหารเป็นอันดับ 3 ของมะเร็งที่เกิดในไทย

ขณะเดียวกันจะร่วมมือกับโรงพยาบาลที่เชี่ยวชาญด้านกระดูกในต่างประเทศ เพื่อการเป็นศูนย์เฉพาะทางด้านกระดูก เพราะในไทยมีปัญหาโรคกระดูกมาก จึงต้องการเป็นศูนย์รองรับคนไข้กรณีคนไข้ผ่าตัดกระดูกจากที่อื่นแล้วมีปัญหา นอกจากนี้ จะลงทุน 50 ล้านบาท สร้างสถาบันสมิติเวชในย่างกุ้ง รองรับผู้ป่วยเด็กนานาชาติในเมียนมา จากเดิมมีคลินิกในโรงพยาบาลบารมี กรุงย่างกุ้ง รองรับการบริการชาวเมียนมาและชาวต่างชาติอยู่แล้ว

ภาพรวมทั้งหมดสะท้อนให้เห็นว่า ธุรกิจโรงพยาบาลมีวัฏจักรเช่นเดียวกับธุรกิจอื่น เมื่อเติบโตจนเกือบเต็มที่ก็ต้องแตกเซ็กเมนต์ เพื่อรักษาการโตต่อไป