posttoday

"อาคม" เชื่อเงินลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเป็นผลบวกต่อศก.อย่างน้อย10ปี

23 ธันวาคม 2558

"อาคม" ชี้ไทยมองข้ามช็อต ลงทุนระบบคมนาคมล่วงหน้า 30-50 ปี มั่นใจเงินลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในปัจจุบันเป็นผลบวกต่อศก.ไปอีกอย่างน้อย 10 ปี

"อาคม" ชี้ไทยมองข้ามช็อต ลงทุนระบบคมนาคมล่วงหน้า 30-50 ปี มั่นใจเงินลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในปัจจุบันเป็นผลบวกต่อศก.ไปอีกอย่างน้อย 10 ปี

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม กล่าวในงานแถลงผลงานรัฐบาลรอบ 1 ปีว่า แม้ว่าการกำหนดแผนยุทธศาสตร์ของประเทศของรัฐบาลชุดนี้จะกำหนดระยะเวลาเอาไว้ที่ 20 ปี แต่การลงทุนพัฒนาระบบคมนาคมที่จะเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของประเทศทั้งในส่วนที่เริ่มดำเนินการไปแล้วและจะดำเนินการเพิ่มเติมในอนาคตนั้น รัฐบาลได้มองไปถึงอนาคตในอีก 30-50 ปีข้างหน้าทุกโครงการ เพราะผลตอบแทนจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานส่วนใหญ่จะมีระยะเวลาราว 50 ปี

"ไทยว่างเว้นจากการลงทุนขนาดใหญ่ด้านโลจิสติกส์มานานมาก สองโครงการสุดท้ายคือ สนามบินสุวรรณภูมิในปี 2549 และโครงการรถไฟฟ้าใต้ดินในปี 2547 ดังนั้นโครงการลงทุนที่จะเกิดใหม่ของเราต้องมองข้ามปัจจุบัน เพราะถ้าไม่มองระยะยาวบางโครงการอาจไม่คุ้มค่า" นายอาคม กล่าว

นายอาคม ระบุว่า การขาดการลงทุนขนาดใหญ่ด้านระบบขนส่งมานานของไทย ทำให้ประเทศตกอยู่ในภาวะคอขวด ซึ่งส่งผลกระทบหลายด้าน อาทิเช่น คุณภาพชีวิตของประชาชนที่ต้องใช้ระบบขนส่งที่ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ปัญหารถติด ปัญหาสิ้นเปลืองพลังงาน นอกจากนี้ยังทำให้ไทยเสียโอกาสในการต่อยอดภาคการท่องเที่ยวจากระบบคมนาคมที่ไม่เอื้ออำนวย

ทั้งนี้ ในรอบปีที่ผ่านมากระทรวงคมนาคมได้เร่งเดินหน้าประกวดราคาโครงการสำคัญไปแล้วหลายโครงการ เช่น การพัฒนารถไฟทางคู่ ขนาดราง 1 เมตร เส้นทางจิระ-ขอนแก่น โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองเพื่อเชื่อมโยงโลจิสติคส์ 2 เส้นทาง ได้แก่ พัทยา-มาบตาพุด และ บางปะอิน-นครราชสีมา และโครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะที่ 2 ขณะที่ความร่วมมือก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงระหว่างไทย-จีนและไทย-ญี่ปุ่นก็มีความคืบหน้าตามลำดับ

สำหรับแผนการดำเนินงานในระยะต่อจากนี้ กระทรวงจะพยายามผลักดันแผนการก่อสร้างรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพและปริมณฑลให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบครบทั้ง 10 เส้น ภายในปี 2559 พร้อมกันนี้จะมีการสานต่อโครงการที่เริ่มไปแล้วในปีนี้ 7 โครงการและจะเริ่มก่อสร้างโครงการใหม่ให้ได้ 13 โครงการ

นอกจากนี้ จะมีการศึกษาแผนแม่บท 3 เรื่องสำคัญ คือ การพัฒนาระบบรถไฟฟ้าในกรุงเทพและปริมณฑลระยะที่ 2 การพัฒนาโครงข่ายมอเตอร์เวย์และการใช้ประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจจากพื้นที่ตามแนวรถไฟฟ้าความเร็วสูงที่จะเกิดในอนาคต

"เราคาดว่าเม็ดเงินจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมที่เข้ามาหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจจะเริ่มมีผลต่อจีดีพีประเทศในช่วงกลางปี 2559 และจะมีผลบวกต่อเศรษฐกิจต่อเนื่องไปอีกอย่างน้อย 10 ปี" นายอาคม กล่าว