posttoday

ชี้ผู้ใช้เน็ตไทย "เซ็นเซอร์ตัวเอง" มากขึ้น เหตุไม่ไว้ใจกฎหมาย

23 ธันวาคม 2558

พบหลังรัฐประหาร คสช.ใช้กฎหมายความมั่นคงเอาผิด "ฝ่ายต่อต้าน" พุ่ง นักวิชาการเผยต้องการสร้างความกลัวให้ประชาชน

พบหลังรัฐประหาร คสช.ใช้กฎหมายความมั่นคงเอาผิด "ฝ่ายต่อต้าน" พุ่ง นักวิชาการเผยต้องการสร้างความกลัวให้ประชาชน

เมื่อวันที่ 23 ธ.ค. ที่คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  เครือข่ายพลเมืองเน็ต จัดเสวนาเรื่อง “ระบอบการดูแลโลกไซเบอร์ไทย นับตั้งแต่รัฐประหาร 22 พ.ค. 2557”

นายทศพล ทรรศนกุลพันธ์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยว่า หลังการรัฐประหาร โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) รัฐบาลมีความพยายามในการแทรกแซงโลกไซเบอร์ในทุกรูปแบบ เนื่องจากพบว่า การชุมนุมกปปส. ช่วงปี 2556 – 2557 การใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ สามารถปลุกผู้คนจำนวนมาก ให้ออกมาร่วมชุมนุมโค่นล้มรัฐบาลพลเรือนได้

ขณะเดียวกัน เหตุการณ์อาหรับสปริง ในตะวันออกกลาง ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งประชาชนลุกฮือโค่นล้มรัฐบาลเผด็จการ ก็มาจากการนัดรวมตัวทางเครือข่ายสังคมออนไลน์เช่นกัน

“ยุทธศาสตร์ของฝ่ายที่ต้องการยึดครองความเป็นใหญ่ทางการเมือง ไม่ใช่แค่การควบคุมอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เพื่อไม่ให้คนเข้าไปชุมนุมอีกต่อไป แต่คือการเข้าไปตรวจสอบเพจที่คนเข้าไปอ่านจำนวนมากๆ ว่าทำอย่างไรให้เพจหายไปเลย หรือควบคุมทิศทางการเล่าข่าว และการทำให้ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเกิดความหวาดระแวง ซึ่งต้องยอมรับว่าที่ผ่านมา รัฐบาลประสบความสำเร็จในการควบคุม” นายทศพลระบุ

อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวอีกว่า ยุทธศาสตร์ที่คสช.ใช้ตั้งแต่การรัฐประหาร มีตั้งแต่การรวมศูนย์อำนาจในการสั่ง บังคับบัญชาและควบคุมโลกไซเบอร์ รวมถึงการให้อำนาจคุ้มครองเจ้าหน้าที่ ในการเข้าไปตรวจสอบการใช้ข้อมูลข่าวสารในโลกออนไลน์ และยังให้อำนาจเจ้าหน้าที่ในการเข้าไปตรวจสอบผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต และเป็นคนกลางคอยตรวจสอบการไหลเข้า-ออกของข้อมูลข่าวสาร จากผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตไปยังผู้ใช้อินเทอร์เน็ต

นอกจากนี้ ยังมีความพยายามเซ็นเซอร์เว็บไซต์ ผ่านการบังคับใช้กฎหมายความมั่นคง การให้อำนาจในการปิดเว็บไซต์ ที่รัฐเห็นว่าไม่เหมาะสม และยังมีความพยายามใช้ “ลูกเสือไซเบอร์” ด้วยการให้นักเรียนติดตามเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสม แล้วดำเนินการปิดเว็บไซต์ทันที ขณะเดียวกัน ยังพบว่า มีความพยายามของรัฐ ในการ “แลกเปลี่ยนผลประโยชน์” กับผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต เพื่อให้รัฐมีอำนาจในการเข้าไปแทรกแซงโลกออนไลน์มากขึ้น

นายทศพล กล่าวอีกว่า ขณะนี้ ความไว้ใจในอินเทอร์เน็ตถูกกระเทือนโดยตรง สังเกตได้จาก ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตจำนวนมากเลือกที่จะเซ็นเซอร์การโพสต์ของตัวเอง  ด้วยการรหลีกเลี่ยงแสดงความคิดเห็นในเครือข่ายสังคมออนไลน์ รวมถึงในเครือข่ายปิด และกลุ่มลับ เนื่องจากที่ผ่านมา มีการใช้กฎหมายอาญาหมวดความมั่นคงเพื่อดำเนินคดีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั่วไป และยังไม่แน่ใจขอบเขตของกฎหมายว่าการโพสต์แต่ละครั้งเข้าข่ายผิดกฎหมายอาญาหรือไม่ ซึ่งในอนาคต อาจกระทบไปถึงระบบเศรษฐกิจ เพราะผู้ประกอบการ อาจไม่มั่นใจในกฎหมาย หรือการแทรกแซงของรัฐในระบบอินเทอร์เน็ตเช่นกัน

ขณะที่ น.ส.สาวตรี สุขศรี อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า คสช.ได้เพิ่มอำนาจเจ้าหน้าที่ให้ขยายขอบเขตจากกฎหมายอาญาเดิมๆ ไปสู่สถาบันอื่น เช่น การให้อำนาจกฎหมายอาญา มาตรา 116 หรือข้อหายุยงปลุกปั่น ซึ่งมีอัตราโทษร้ายแรง ต้องใช้เงินประกันในอัตราที่สูง และอยู่ในอำนาจการพิจารณาของศาลทหาร ครอบคลุมไปถึงรัฐบาล นายกรัฐมนตรีและครอบครัว รวมถึงการแชร์ผังอุทยานราชภักดิ์ ซึ่งเป็นการตีความที่กว้างขึ้น และใช้ควบคู่ไปกับ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว

ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2553 การใช้กฎหมายอาญา มาตรา 116 เพื่อดำเนินคดีกับประชาชน เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ ซึ่งตั้งแต่ปี 2553 ถึงก่อนการรัฐประหารมีประมาณ 4 คดีเท่านั้น แต่หลังรัฐประหารเพียง 1 ปีครึ่ง มีการใช้มาตรา 116 มากถึง 10 คดี โดย 8 ใน 10 คดี คือการต่อต้านคสช.

“เมื่อเข้าไปที่ศาลทหาร มีหลายจุดที่แตกต่างจากศาลปกติ เช่น การพิจารณาคดี มีชั้นเดียว จำเลยอุทธรณ์ ฎีกา ไม่ได้ หรือผู้พิพากษา มีสามท่านก็จริง แต่มีเพียงคนเดียวที่จบคณะนิติศาสตร์ ขณะเดียวกันสิทธิของจำเลย หรือผู้ต้องหาที่ถูกฟ้องก็แตกต่างกัน นี่คือเหตุผลว่าทำไมถึงทำคดีให้แรง” น.ส.สาวตรีกล่าว

นอกจากนี้ ยังพบว่า การดำเนินคดีตามกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือ ดูหมิ่น หมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ มีจำนวนเพิ่มขึ้นมาก และผนวกการใช้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์เข้าไปด้วย เนื่องจากส่วนใหญ่เกิดขึ้นในโลกออนไลน์

“ทั้งหมดนี้ไม่ได้เกิดความเป็นธรรมชาติ ทั้งฝ่ายคสช. ทหาร หรือฝ่ายสนับสนุน พยายามบิวท์สังคมให้เห็นว่าสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่พูดถึงไม่ได้เลย ทั้งที่ก่อนหน้านี้ มาตรา 112 ไม่ได้ฟ้องร้องกันด้วยเรื่องเล็กๆ น้อยๆ แบบนี้”น.ส.สาวตรี กล่าว