posttoday

ศึกประมูลคลื่น 900 เอไอเอส-ดีแทคเต็งจ๋า

14 ธันวาคม 2558

ค่ายที่น่าจะสู้ไม่ถอยในการประมูลและได้ใบอนุญาตรอบนี้คงหนีไม่พ้นเอไอเอสกับดีแทค

โดย...ทีมข่าวธุรกิจตลาดโพสต์ทูเดย์

การประมูลใบอนุญาตคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ 2 ใบ แบ่งเป็น ใบละ 10 เมกะเฮิรตซ์ อายุสัญญา 15 ปี มีราคาตั้งต้นประมูลอยู่ที่ใบละ 1.29 หมื่นล้านบาท งานนี้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) คาดหวังรายได้ประมูลใบละ 4 หมื่นล้านบาท ซึ่งมากไม่แพ้ครั้งประมูลคลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์ ใบละ 15 เมกะเฮิรตซ์ โดยเตรียมสถานที่ให้ผู้เข้าประมูลทั้ง 4 ราย คือ เอไอเอส ดีแทค ทรูมูฟ และจัสมิน สามารถอยู่วางแผนแข่งเคาะราคาประมูลกันได้ถึง 3 วัน 3 คืน

นั่นเป็นการคาดการณ์ของผู้จัดประมูล ส่วนมุมมองผู้ให้บริการหรือโอเปอเรเตอร์มือถือมองว่าการประมูลคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ คงดุเดือดไม่แพ้คลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์ เพราะเอไอเอสจำเป็นต้องได้คลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ 1 ใบ แน่ ส่วนที่เหลือจะเป็นการแข่งระหว่าง ดีแทคกับจัสมิน น้องใหม่ที่ต้องการเข้ามามีบทบาทในธุรกิจนี้ ซึ่งครั้งที่ผ่านมาจัสมินก็เปิดหน้าตักให้เห็นว่าพันธมิตรที่จับมือกันมีงบสู้ถึงเกือบ 4 หมื่นล้านบาท ทิ้งท้ายด้วยกลุ่มทรูที่คาดจะเข้ามาปั่นราคาเพื่อไม่ให้ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น

คาดการณ์ดังกล่าวมาจากปัจจัยจำนวนคลื่นที่แต่ละค่ายมือถือถือครองจำนวนโครงข่ายเสาที่แต่ละค่ายติดตั้งทั่วประเทศ และแนวทางธุรกิจที่จะต่อยอดบริการใหม่ๆ ออกมาจาก 4จี เพราะผู้ประกอบการด้วยกันจะรู้กันดีอยู่แล้วว่าใครต้องการคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ และใครมีโครงข่ายอย่างไร ซึ่งตามแผนธุรกิจของแต่ละค่าย บางค่ายก็มีให้บริการเป็นจุดๆ ตามแหล่งท่องเที่ยวใหญ่ๆ เพื่อนำไปใช้โฆษณา บางค่ายเป็นการให้บริการครอบคลุมพื้นที่จริงๆ โดยหลังจากนี้แต่ละค่ายก็จะมีการเจรจาแลกเปลี่ยนเกี่ยวสัญญาณกัน เพื่อไม่ให้ต้องลงทุนเสาสัญญาณซ้ำซ้อน

เมื่อเป็นเช่นนี้ในมุมมองของโอเปอเรเตอร์ จึงฟันธงการประมูลคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ ครั้งนี้ ผู้ชนะประมูล คือ เอไอเอสกับดีแทค โดยจะมีรายใหม่ที่อยากจะเข้าตลาดตามมาติดๆ

ด้าน พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการและหัวหน้าทีมวิจัยลูกค้าส่วนบุคคล บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร กล่าวว่า ครั้งนี้การแข่งขันน่าจะดุเดือดไม่แพ้ครั้งก่อน เพราะแต่ละค่ายก็เทหน้าตักออกมาให้เห็นกันแล้ว ทำให้การแข่งขันครั้งนี้ราคาประมูลไม่น่าจะน้อยกว่าครั้งที่ผ่านมา และยาวข้ามวันข้ามคืนแน่

“หากมองในแง่ของการแข่งขัน จัสมินเปิดไพ่มาให้เห็นแล้วว่าอยากเข้ามาเป็นผู้เล่นรายใหม่ในตลาดนี้จริงๆ ทำให้ครั้งนี้ ทั้ง 3 ค่ายต้องพยายามให้เต็มที่ ส่วนทางดีแทคเองค่อนข้างชัดเจนตั้งแต่ช่วงแรกแล้วว่าต้องการคลื่น 900 มากกว่า 1800 ทำให้ครั้งก่อนถอยตั้งแต่ช่วงการประมูลแรกๆ แต่ในครั้งนี้ดีแทคน่าจะไม่ถอยแน่นอน แม้ว่าจะมีการไปเจรจาแชร์คลื่นกับรายอื่นไว้บ้าง แต่ถ้าครั้งนี้ไม่ได้สักใบก็จะเสียความเชื่อมั่นจากลูกค้า คาดว่า ต้องของบจากเทเลนอร์เพิ่ม เพื่อมาแข่งใหญ่ในครั้งนี้ ส่วน ทรูมูฟก็ชัดเจนว่าอยากเบียดดีแทคลงให้ได้ เพราะฉะนั้นคงสู้ไม่ถอยเช่นกัน หากให้มองการประมูลครั้งนี้ คิดว่าค่ายที่น่าจะสู้ไม่ถอยและได้ใบอนุญาตรอบนี้คงหนีไม่พ้นเอไอเอสกับดีแทคแน่” พิพัฒน์ กล่าว

ขณะที่เวนเดอร์ผู้ให้บริการติดตั้งเสาโครงข่ายต่างๆ 1 ใน 3 (โนเกีย อีริคสัน และหัวเว่ย) ยักษ์ใหญ่ของโลก ฮาราลด์ ไพรซ์ หัวหน้ากลุ่มธุรกิจเน็ตเวิร์ก ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บริษัท โนเกีย เน็ตเวิร์คส์ ให้ความเห็นว่า หากเป็นเรื่องเสาสัญญาณมองว่าทุกค่ายค่อนข้างมีความพร้อมอยู่แล้ว แต่จะเพิ่มเติมในส่วนของสัญญาณเรดิโอ ซอฟต์แวร์ดีไฟน์เน็ตเวิร์กและซอฟต์แวร์ดีไฟน์เรดิโอ ที่ติดตั้งในเสาสัญญาณเป็นการเพิ่มออปชั่นจากการส่งสัญญาณ 3จี มาเป็น 4จี ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการเพิ่มขึ้นของจำนวนคลื่นความถี่ และได้เข้าไปเจรจากับทุกค่ายเรื่องของอุปกรณ์ติดตั้ง เพราะโนเกียทำงานร่วมกับทุกค่ายอยู่แล้ว

จากภาพรวมทั้งหมด จะเห็นได้ว่า คลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ ที่ประมูลวันที่ 15 ธ.ค.นี้ เอไอเอสกับดีแทคจึงเป็นตัวเต็งที่จะซิวใบอนุญาตไปแน่...ฟันธง