posttoday

ติงเอกชนผูกขาดระบบขนส่ง

09 ธันวาคม 2558

ครม.ไฟเขียวควบ BMCL-BECL สลค.หวั่นเอกชนผูกขาดระบบขนส่งขนาดใหญ่

ครม.ไฟเขียวควบ BMCL-BECL สลค.หวั่นเอกชนผูกขาดระบบขนส่งขนาดใหญ่

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติทราบการควบรวมบริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ (BMCL) และบริษัท ทางด่วนกรุงเทพ (BECL) โดยหลังจากนี้บริษัทดังกล่าวจะดำเนินการตามขั้นตอนที่อัยการสูงสุดกำหนดไว้ และปรับเปลี่ยนเป็นบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ หรือ BEM ส่วนการเปลี่ยนแปลงคู่สัญญากับหน่วยงานของ รัฐนั้น ไม่น่ามีปัญหาอะไร และจะดำเนินการเสร็จภายในไตรมาสแรกของปี 2559 เนื่องจากอัยการสูงสุดได้พิจารณาเห็นชอบแล้ว

"ระหว่างนี้BMCLจะต้องล้างหนี้ที่มีอยู่ประมาณ 1.3 หมื่น ล้านบาทให้หมดก่อนจะนำไปควบรวมกับ BECL ซึ่งเป็นไปตามข้อกำหนดการจัดตั้งบริษัทในตลาด หลักทรัพย์ ขณะที่ ครม.ได้กำชับมาว่า หลังการควบรวมจะต้องไม่มีการปรับขึ้นค่าบริการ" นายอาคม กล่าว

นายอาคม ระบุว่า การควบรวมธุรกิจครั้งนี้จะเกิดประโยชน์ 2 ส่วน คือ 1.เพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของธุรกิจและทำให้มีศักยภาพในการต่อยอดธุรกิจไปยังต่างประเทศ และ 2.การควบรวมก็ไม่ได้มีผลต่อสัมปทานที่มีอยู่ ดังนั้นจึงไม่ติดขัดหากจะมีการควบรวมธุรกิจ

นายพงษ์สฤษดิ์ ตันติสุวณิชย์กุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานพัฒนาธุรกิจ บริษัท ช.การช่าง กล่าวว่า จะมีการประชุมชี้แจงผู้ถือหุ้นภายในเดือน ธ.ค.นี้ เนื่องจากบริษัทตั้งเป้าควบรวมบริษัทให้แล้วเสร็จภายในปี 2558 ซึ่งการควบรวมบริษัทครั้งนี้จะส่งผลให้ศักยภาพการดำเนินงานสูงขึ้น

พล.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การควบรวมระหว่าง BMCL และ BECL จะไม่มีผลกระทบต่อประชาชน

อย่างไรก็ตาม สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ตั้งข้อสังเกตในหลายประเด็น เช่น การควบรวมบริษัทอาจมีผลต่อการพิจารณาคดีทำให้หน่วยงานของรัฐต้องมีข้อพิพาท และการเปลี่ยนคู่สัญญาอาจมีผลกระทบกับบริษัท ทางด่วนกรุงเทพเหนือ (NECL) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ BECL ถือหุ้น จึงควรตรวจสอบสัญญาร่วมทุนที่ NECL ซึ่งเป็นคู่สัญญาด้วย

ด้านสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ให้ความเห็นว่า 1.การควบรวมบริษัทอาจทำให้บริษัทใหม่ (BEM) ผูกขาดระบบขนส่งขนาดใหญ่ที่สำคัญของประเทศ และเรื่องนี้เป็นการปรับบทบาทของรัฐวิสาหกิจที่ถือหุ้นใน 2 บริษัท จึงน่าจะเป็นอำนาจของคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ที่จะเสนอความเห็นเรื่องนี้ด้วย 2.ควรพิจารณาเจรจาต่อรองในเรื่องอื่นๆ เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนผู้ใช้การทางพิเศษและรถไฟฟ้า และ 3.ควรให้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เสนอความเห็นในข้อกฎหมายต่อ ครม.ด้วย