posttoday

ไอซีทีปาดเหงื่อเร่งเลิกสัมปทานมือถือ

21 กรกฎาคม 2553

คณะกรรมการไอซีทีปาดเหงื่อเลิกสัมปทาน 30วันทำไม่ทัน เร่งตั้งทีมทำงานพร้อมจ้างผู้เชี่ยวชาญกฎหมายเพิ่ม  

คณะกรรมการไอซีทีปาดเหงื่อเลิกสัมปทาน 30วันทำไม่ทัน เร่งตั้งทีมทำงานพร้อมจ้างผู้เชี่ยวชาญกฎหมายเพิ่ม  

นายจุติ ไกรฤกษ์ รมว.กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เปิดเผยหลังประชุมคณะกรรมการแก้สัมปทานมือถือครั้งแรกว่าคณะกรรมการเจอโจทย์หินในเรื่องนี้  เพราะระยะเวลาการทำงาน 30 วันที่ต้องเสร็จนั้น เป็นไปไม่ได้  เนื่องจากต้องแก้ปัญหาในหลายมิติ  คือ  กฎหมาย การเงิน และเทคนิค 

ทั้งนี้ เนื่องจากโจทย์ที่ได้รับมอบหมายมาจาก ครม.เศรษฐกิจไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ขณะที่ในความเป็นจริงนั้นมีความซับซ้อนและรายละเอียดมาก  โดยต้องดูความเป็นไปได้ทางกฎหมาย ผลกระทบทางการเงินที่จะเกิดขึ้นกับ บริษัท ทีโอที และ กสท โทรคมนาคม  และการใช้ทรัพย์สินโครงข่ายที่มีอยู่ของทั้งสององค์กรให้เกิดประโยชน์สูงสุด

นายจุติ กล่าวว่า  แม้ไม่สามารถเสร็จทัน แต่ยังดีกว่าไม่ได้ดำเนินการอะไรเลย  เพราะนโยบายการเปลี่ยนสัมปทานเป็นใบอนุญาตให้บริการ (ไลเซ่นส์) 2 จี ครั้งนี้เพื่อช่วย บริษัท ทีโอที และ กสท โทรคมนาคม ให้อยู่รอดต่อไปได้หลังมีไลเซ่นส์ 3 จี ของคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.)

“จะสำเร็จยากมาก แต่ต้องทำ เพราะหากปล่อยเรื่องสัมปทานให้ยังคงอยู่  ทั้งทีโอที และ กสทฯ จะไม่เหลืออะไรเลยเมื่อ 3 จีเกิดขึ้น” 

นอกจากนี้  ทางสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.)  ได้ตั้งทีมทำงานในเรื่องนี้เพิ่ม พร้อมทั้งว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญกฎหมายโทรคมนาคมเข้ามาดูแลในเรื่องนี้โดยเฉพาะ  เนื่องจากประเด็นกฎหมายค่อนข้างซับซ้อน และรายละเอียดมาก นอกเหนือจากเรื่องที่ กทช.ไม่มีอำนาจในการออกไลเซ่นส์ 2 จี มากกว่าอายุสัมปทานที่เหลือ  และจะมีการประชุมคณะกรรมการชุดนี้อีกครั้งในวันนี้ (22ก.ค.)

พ.อ.นที ศุกลรัตน์ กรรมการ กทช. กล่าวหลังหารือร่วมกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ในประเด็นนี้ว่า  กทช.ได้ย้ำถึงอำนาจทางกฎหมายตาม มาตรา 80 พ.ร.บ.ประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2544  ซึ่งกำหนดให้ กทช.ออกไลเซ่นส์ 2 จีให้อัตโนมัติ  หากผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือสามารถตกลงกับเจ้าของสัมปทานกันเรียบร้อย โดยไลเซ่นส์จะมีอายุเท่ากับสัมปทานที่เหลือ  แต่ระยะเวลาที่มากกว่า นั้น กทช.ไม่สามารถทำได้

อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมได้มีความเห็นว่า หากยกเลิกสัมปทานแล้วเปลี่ยนเป็นไลเซ่นส์โดยไม่ดำเนินการตาม มาตรา 80 สามารถทำได้หรือไม่ ซึ่งในเรื่องนี้ต้องขึ้นอยู่กับผลสรุปของคณะกรรมการแก้สัมปทานมือถือ   ไม่เกี่ยวกับ กทช.

ด้านนายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า การยกเลิกสัมปทานครั้งนี้จะไม่กระทบกับการประมูลไลเซ่นส์ 3 จี ของกทช.แน่นอน เนื่องจาก กทช.ได้ดำเนินการทุกอย่างไปมากแล้ว และ ไลเซ่นส์ 3 จี กับ 2 จีเป็นคนละส่วนกัน.