posttoday

"ดีแทค"ลั่นตัดราคาสู้ ป้องแชร์4จี1800/สั่งลุย900

19 พฤศจิกายน 2558

ดีแทคมั่นใจว่าด้วยต้นทุนสัมปทานเก่า ทำให้ได้เปรียบคู่แข่งออกแพ็กเกจหลากหลายระดับราคามากกว่า

โดย...สุกัญญา สินถิรศักดิ์

หลังการประมูลคลื่น 1800 MHz ไปให้บริการ 4จี ครั้งประวัติศาสตร์ ที่ใช้เวลาประมูลข้ามวันข้ามคืนกว่า 33 ชั่วโมง เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา นอกจากประเด็นผู้ชนะการประมูลและราคาที่ประมูลได้ไปนั้น อีกหนึ่งกระแสข่าวร้อน นั่นคือประเด็นเกี่ยวกับ “ดีแทค” ที่จบการประมูลด้วยตัวเลขแค่ 1.7 หมื่นล้านบาท แตกต่างจากคู่แข่งที่จบด้วยตัวเลขสูงถึงเกือบ 4 หมื่นล้านบาท ทำให้คนในแวดวงวิเคราะห์ว่า การจบราคาประมูลที่ไม่สูงใกล้เคียงกับคู่แข่ง สะท้อนว่าดีแทคถอดใจหรือไม่? หรือจะลดความสำคัญกับตลาดไทยไปทุ่มที่เมียนมา? รวมทั้งดีแทคจะรักษาส่วนแบ่งตลาดอย่างไรหลังทรูกับเอไอเอสมีคลื่นมาสู้?

ด้วยหลายประเด็นร้อน ทำให้ดีแทคต้องเปิดเวทีแจงทุกข้อสงสัย ประเทศ ตันกุรานันท์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มเทคโนโลยี บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น หรือดีแทค กล่าวว่า หลายคนอาจเข้าใจว่าการประมูลเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา คือ การประมูล 4จี แต่จริงๆ แล้ว เป็นการประมูลคลื่น 1800 MHz ซึ่งก่อนหน้านี้ดีแทคได้นำคลื่น 1800 MHz ที่มีสัมปทานอยู่จำนวน 25 MHz มาแบ่งเปิดบริการ 4จี จำนวน 10 MHz ได้ระยะหนึ่งแล้ว ทำให้ดีแทค มี 4จี บนคลื่น 1800 MHz อยู่แล้ว จึงเชื่อว่าการไม่ได้เป็นหนึ่งในผู้ชนะการประมูลครั้งที่ผ่านมาจะไม่กระทบการให้บริการ 4จี

“แน่นอนว่าการที่ดีแทคเข้าร่วมประมูลย่อมหวังที่จะได้ใบอนุญาต เพราะ 4จี บนคลื่น 1800 MHz ที่ดีแทคมีสัมปทานอยู่ปัจจุบันจะหมดสัมปทานปี 2561 แต่ถ้ามูลค่าสูงเกินกว่าที่เราประเมินไว้ ก็เป็นสิ่งที่ต้องคำนึงต้นทุนเป็นเรื่องสำคัญ มีผลกับความสามารถในการแข่งขัน เพราะท้ายที่สุดต้นทุนเหล่านี้ก็ต้องไปตกอยู่กับผู้บริโภคไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ไม่อย่างนั้นแล้วเงิน 4 หมื่นล้านบาทจะหาจากไหนมาจ่าย โดยหากมองแต่ในเชิงอารมณ์ ความรู้สึกแพ้ชนะการประมูล อาจเป็นเรื่องสำคัญ แต่ถ้ามองในเชิงทำธุรกิจ ต้นทุนเป็นเรื่องที่สำคัญกว่า ซึ่ง 4 หมื่นล้านบาท ถือว่าสูงไปสำหรับดีแทค”

อย่างไรก็ตาม บิ๊กดีแทคมองว่าเรื่องราคาในการประมูลจะจบที่เท่าไรไม่มีผิดไม่มีถูก เพราะแต่ละบริษัทมีเหตุและผลที่จะจ่าย โดยเชื่อว่าราคาประมูล 1800 MHz ครั้งที่ผ่านมา ย่อมมีผลกับราคาประมูล 900 MHz ในเดือน ธ.ค.ที่จะถึงนี้แน่นอน และภาพรวมการประมูลคลื่นความถี่นับจากนี้จะเปลี่ยนไป จะมีหน่วยงานราชการนำคลื่นความถี่ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ออกมาให้เอกชนประมูลอีก นั่นเป็นเหตุผลที่ดีแทคประเมินว่า แม้ใบอนุญาต 4จี บนคลื่น 1800 MHz จะสิ้นสุดในอีก 3 ปีข้างหน้า และไม่ได้ใบอนุญาต 1800 MHz ครั้งที่ผ่านมา ก็ยังมีโอกาสที่จะได้ร่วมประมูลคลื่นใหม่ๆ ในอนาคตอีก

ประเทศ กล่าวว่า ส่วนการประมูล 900 MHz ในเร็วๆ นี้ ดีแทคพร้อมเต็มที่และจะใช้บทเรียนจากครั้งที่ผ่านมาเป็นส่วนหนึ่งในการตัดสินใจ โดยยืนยันว่าการหยุดเคาะตัวเลขที่ 1.7 หมื่นล้านบาท ในการประมูลครั้งที่ผ่านมาไม่ได้หมายความว่าบริษัทแม่จะชะลอการลงทุนในไทย เพราะที่ผ่านมาเทเลนอร์ฯ ให้ความสำคัญกับตลาดในไทยเสมอ และไทยเป็นตลาดที่ทำรายได้เป็นอันดับต้นๆ

สำหรับกลยุทธ์แก้ภาพลักษณ์ที่พลาดใบอนุญาตครั้งที่ผ่านมา ดีแทคจะเร่งสร้างการรับรู้ว่า ดีแทค มี 4จี บนคลื่น 1800 MHz อยู่แล้ว และอัดโปรโมชั่นสู้คู่แข่งที่เพิ่งได้ใบอนุญาตใหม่ ซึ่งดีแทคมั่นใจว่าด้วยต้นทุนสัมปทานเก่า ทำให้ได้เปรียบคู่แข่งออกแพ็กเกจหลากหลายระดับราคามากกว่า และรักษาส่วนแบ่งผู้ใช้มือถือไว้ได้