posttoday

"จิตสำนึก-จริยธรรม" สิ่งสำคัญในโลกออนไลน์

19 ตุลาคม 2558

การสร้างคอนเทนต์ต้องตระหนักอยู่เสมอว่า จะเลือกระหว่างรักษาผลประโยชน์ให้ตนเองหรือสังคม ซึ่งสิ่งเหล่านี้อยู่ที่จิตสำนึกทั้งสิ้น

โดย...ณัฎฐ์ธยาน์ สุทธิเจริญ

เรื่องของการทำการตลาดออนไลน์นั้น ทักษะและจริยธรรมก็ถือว่าเป็นสิ่งหนึ่งที่ควรมีควบคู่กันสำหรับการทำสื่อสมัยใหม่อย่างโซเชียลมาร์เก็ตติ้ง เพราะการเข้ามาของโซเชียลมีเดียอย่างเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ยูทูบ และอินสตาแกรมนั้นเพิ่งเกิดขึ้นมาไม่นาน ซึ่งการเขียนคอนเทนต์ให้โดนใจผู้รับสารนั้นต้องอาศัยทักษะในการสร้างสรรค์และสิ่งสำคัญที่ควรมาพร้อมกันคือจริยธรรม

ณัฐพัชร์ วงษ์เหรียญทอง คอลัมนิสต์และบล็อกเกอร์ด้านการตลาดออนไลน์ กล่าวว่า การทำตลาดออนไลน์นั้นไม่สามารถบอกได้ชัดเจนว่าสิ่งใดควรหรือไม่ควร เพราะไม่มีข้อกำหนดหรือกฎเกณฑ์ใดที่จะเป็นตัวชี้ชัดว่าสิ่งนั้นถูกต้องหรือว่าเหมาะสมนอกจากสามัญสำนึกของแต่ละคน

“สิ่งที่นักการตลาดควรจะคิดได้เอง คือ คุณรับผิดชอบต่อสังคมหรือไม่ ต้องพิจารณาจากตัวเราเองก่อนว่าสารที่เรากำลังส่งไปยังผู้บริโภคนั้นถูกต้องและเหมาะสมเพียงใด ไม่ใช่คิดถึงแต่เรื่องรายได้และผลประโยชน์เป็นหลัก”

นอกจากนี้ การโฆษณาผ่านสื่อไม่ว่าจะเป็นสื่อหลักอย่างทีวี หนังสือพิมพ์ วิทยุ หรือสื่อใหม่อย่างเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และอินสตาแกรมนั้นต่างก็ถือว่าเป็นสาร (Content) ชนิดหนึ่ง ที่ผู้รับสารมีสิทธิที่จะรู้ว่าสารนั้นเป็นเรื่องจริงที่ได้รับการพิสูจน์หรือเป็นแค่การโฆษณาของแบรนด์

“การสื่อสารผ่านคนดังหรือที่เรียกว่า Earn Media คือ การให้ Influencer หรือผู้ทรงอิทธิพล ซึ่งเป็นคนดังในโลกออนไลน์ เซเลบ ดารา ศิลปิน หรือผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน มาสื่อสารผ่านคอนเทนต์แก่คนหมู่มาก ทำให้สารที่ส่งออกมานั้นยิ่งต้องระมัดระวังให้มาก เพราะคนอ่านหรือรับฟังมาจะเชื่อคอนเทนต์หรือเนื้อหานั้นอย่างรวดเร็วก่อนที่จะได้รับการพิสูจน์”

ดังนั้น นักการตลาดควรจะย้อนกลับไปถามตัวเองอีกครั้งว่า การว่าจ้างคนดังสื่อสารกับตลาดหรือโฆษณาผ่านคอนเทนต์นั้นจะมีข้อดีข้อเสียอย่างไร รวมไปถึงผู้รับสารมีสิทธิที่จะรู้หรือไม่ว่าข่าวสารและข้อมูลที่ผู้ทรงอิทธิพลส่งมานั้น เป็นเรื่องจริงหรือแผนการตลาดประเภทหนึ่ง

สิ่งที่ต้องระวังเป็นพิเศษคือเรื่องของสินค้ากลุ่มที่เรียกว่าแอลกอฮอล์หรือบุหรี่ที่มีการประกาศควบคุมด้วยกฎหมายชัดเจนมาตั้งแต่ปี 2551 แล้ว ดังนั้นจึงไม่น่าจะเป็นไปได้ที่นักการตลาดหรือผู้ที่ทำโฆษณาในส่วนนี้จะไม่ทราบ เพราะเรื่องเหล่านี้ถือว่าเป็นเรื่องบอบบางในสังคมและนักการตลาดที่ทำงานด้านนี้มานาน จะทราบข้อกำหนดว่าสิ่งใดควรหรือไม่ควรกระทำ

“หากเป็นในต่างประเทศนั้น จะมีการกำหนดที่มาของสารด้วยการใช้แฮชแท็กควบคุมเพื่อให้ผู้รับสาร คนอ่าน หรือผู้ติดตาม ซึ่งไม่สามารถคาดเดาได้ว่าคนที่พบเห็นจะเป็นช่วงอายุใดนั้นได้รับทราบว่าสิ่งที่กำลังจะโพสต์ เป็นการโฆษณาหรือการใช้งานจริงเพื่อให้คนอ่านได้ตัดสินใจว่าจะเชื่อในเนื้อหานั้นหรือไม่ แฮชแท็กที่ต่างประเทศใช้ควบคุมในการโพสต์ ยกตัวอย่างเช่น #advertorial #sponcer #advertising เป็นต้น”

เหตุผลที่นักการตลาดเลือกใช้งานคนดัง เซเลบ หรือคนที่น่าเชื่อถือในสังคมมาเป็นคนสื่อสารนั้น เพราะจะได้รับการยอมรับและเชื่อถือจากคนที่ชื่นชอบ เห็นได้จากข้อมูลของทางโซเชียล อิงค์ ที่ระบุว่า 86% ของคนทั่วไปมักไม่เชื่อสิ่งที่สินค้าหรือแบรนด์พูดถึงสินค้าของตน แต่ 78% ของคนทั่วไปมักเชื่อในสิ่งที่คนอื่นพูดถึงแบรนด์มากกว่า

เมื่อมองในอีกแง่หนึ่งไม่ใช่แค่นักการตลาดเท่านั้นที่ควรมีจริยธรรมและสำนึกต่อสังคมทางด้าน Influencer หรือผู้ทรงอิทธิพลเองก็ควรที่จะมีจิตสำนึกในการสร้างสรรค์คอนเทนต์หรือกลั่นกรองข้อมูลข่าวสารก่อนที่จะส่งต่อออกไปแก่สังคมเช่นกัน เพราะต้องทราบด้วยตัวเองว่าคนติดตามข้อมูลจากเรามีความหลากหลาย เมื่อจะส่งต่อข้อมูลสิ่งนั้นจะต้องไม่ส่งผลกระทบต่อคนในสังคมและเหมาะสมกับผู้อ่านทุกกลุ่ม

อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญสำหรับผู้ส่งสารหรือนักเขียนที่ต้องเขียนบทความหรือสร้างสรรค์คอนเทนต์นั้น ลองชั่งใจตัวเองให้ดีก่อนว่าหากการเขียนงานนั้นได้รับกับไม่ได้รับค่าตอบแทน จะถ่ายทอดข้อมูลออกมาแก่สังคมแตกต่างกันหรือไม่

ณัฐพัชร์ กล่าวเสริมอีกว่า ยุคนี้บล็อกเกอร์หรือเว็บไซต์ต่างก็สร้างรายได้ง่ายขึ้น เพราะฉะนั้นการเขียนแบบบายแอส (Bias) หรือเข้าข้างก็ไม่ใช่เรื่องผิด แต่ผู้เขียนก็ต้องรู้จักแยกแยะและตระหนักอยู่เสมอว่า จะเลือกระหว่างรักษาผลประโยชน์ให้ตนเองหรือสังคม ซึ่งสิ่งเหล่านี้อยู่ที่จิตสำนึกทั้งสิ้น

“ถามตัวเองก่อนว่าโซเชียลมีเดียเหล่านี้มีไว้เพื่ออะไร แชร์ประสบการณ์ ขายสินค้า หรือโปรโมทตัวเอง เช่น คนดัง หากทำเพื่อการค้าแล้วทำไมถึงไม่กล้ายอมรับ เพราะการที่คุณกำลังปฏิเสธและแกล้งทำเป็นไม่รู้เรื่องนั้น แสดงว่ากำลังจงใจทำผิดกฎหมาย แล้วต่อไปจะกล้าตอบสังคมไหมว่าสิ่งที่ทำลงไปนั้นถูกหรือผิด ส่วนเรื่องการเลียนแบบของเด็กในสังคมนั้นถือว่าเป็นอีกมุมหนึ่ง สิ่งที่คนดังควรทำคือยอมรับการกระทำและลงมือแก้ไขจะดีกว่า” ณัฐพัชร์ กล่าวทิ้งท้าย