posttoday

โมบายดีไวซ์ยิ่งโต ความเสี่ยงไวรัสสูงตาม

18 ตุลาคม 2558

ธุรกรรมออนไลน์ทุกชนิด ล้วนมีความเสี่ยงจะโดนเจาะข้อมูลเกี่ยวกับบัญชีถึง 43% หากไม่มีการติดตั้งซอฟต์แวร์ที่เหมาะสม

โดย...ณัฏฐ์ธยาน์ สุทธิเจริญ

จากจำนวนโมบายดีไวซ์ประเภทสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตที่กำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้มีผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านเครื่องพีซีกว่า 35 ล้านราย และใช้งานผ่านโมบายอินเทอร์เน็ตถึง 50 กว่าล้านราย โดย ETDA เคยระบุว่า ไทยเป็นแหล่งแพร่พันธุ์มัลแวร์เป็นอันดับ 3 ของโลก จากการใช้งานซอฟต์แวร์เถื่อนและเข้าใช้งานเบราเซอร์ที่อาจมีการแฝงตัวของไวรัส ส่งผลให้อนาคตเทรนด์การใช้งานอินเทอร์เน็ตออฟธิงค์ยิ่งมีความเสี่ยงมากขึ้น

คิงเซียนหยิง ผู้จัดการฝ่ายการตลาด แคสเปอร์สกี้ แลป เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า จากจำนวน 60% ของลูกค้าที่เข้าใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านดีไวซ์ในปัจจุบันนั้น เริ่มมีความกังวลว่าจะถูกขโมยข้อมูลผ่านอุปกรณ์โมบายดีไวซ์ ซึ่งมีจำนวนกว่า 14% ที่ถูกขโมยข้อมูลบัญชีอย่างแน่นอน

“จากการทำธุรกรรมออนไลน์ทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็น ช็อปปิ้งออนไลน์ โมบายแบงก์กิ้ง อินเทอร์เน็ตแบงก์กิ้ง ล้วนมีความเสี่ยงจะโดนเจาะข้อมูลเกี่ยวกับบัญชีถึง 43% หากไม่มีการติดตั้งซอฟต์แวร์ที่เหมาะสมหรือใช้งานออนไลน์ไม่ระวัง” เซียนหยิง กล่าว

ความนิยมในการใช้จ่ายซอฟต์แวร์ที่ถูกกฎหมายผ่านช่องทางออนไลน์นั้น มีตัวเลขเพียง 14 ล้านดาวน์โหลดทั่วโลก โดยไทยยังเป็นตลาดที่ซื้อผ่านออนไลน์น้อยมาก เพราะช่องทางการขายผ่านหน้าร้านมีทิศทางที่ดีกว่า อีกทั้งคนไทยยังตระหนักถึงภัยคุกคามต่ำ เพราะคิดว่าใช้งานซอฟต์แวร์ฟรีก็เพียงพอแล้ว จึงเลือกจะค้นหารหัสผ่านแบบผิดกฎหมายบนอินเทอร์เน็ต แทนที่จะซื้อซอฟต์แวร์อย่างถูกต้อง เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากการโจรกรรมแบบไม่รู้ตัว

โมบายดีไวซ์ยิ่งโต ความเสี่ยงไวรัสสูงตาม

กฤษฎา อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้จัดการฝ่ายช่องทางการขาย บริษัท โก กรีน ซีเคียวริตี้ ดิสทริบิวชั่น กล่าวว่า ความตระหนักใช้ในเรื่องของระบบป้องกันไวรัสทุกชนิดของคนไทยยังมีน้อย อาจเพราะยังไม่เจอปัญหาภัยคุกคามรุนแรงเหมือนต่างประเทศ ซึ่งคนไทยอยากจะป้องกัน แต่ยังไม่พร้อมลงทุน จึงเลือกใช้ของฟรีมากกว่าเสียเงิน

“ทุกอย่างที่ฟรีล้วนมีความเสี่ยง ดังนั้น ผู้ใช้งานควรตระหนักอยู่เสมอ หากมีการเข้าใช้งานโปรแกรมที่ไม่ถูกต้อง และอุปกรณ์ไม่มีการป้องกันที่ตรงจุด ก็อาจจะส่งผลต่อภาพรวมของธุรกิจได้ เช่น พนักงานที่ต้องไปทำงานนอกออฟฟิศ ในขณะที่แบตเตอรี่มือถือกำลังจะหมด ได้เผลอเสียบสายชาร์จเข้ากับจุดให้บริการยูเอสบีที่เปิดให้ชาร์จไฟฟรี เบื้องหลังอาจมีการขโมยข้อมูลภายในมือถือของเราอยู่ก็ได้ เพราะคอมพิวเตอร์จะมองสายยูเอสบีที่เข้ามาเสียบเป็น 1 โฟลเดอร์ อาชญากรไซเบอร์อาจจะเข้าไปล้วงข้อมูลได้ง่ายโดยที่เราไม่รู้ตัว” กฤษฎา กล่าว

ขณะที่มูลค่าการโจมตีเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 10% ทุกปีต่อเนื่อง การใช้งานไว-ไฟที่เปิดให้ใช้งานฟรีก็มีความเสี่ยงเช่นกัน ยิ่งในอนาคตเทรนด์อินเทอร์เน็ตออฟธิงค์หรืออุปกรณ์ที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ เช่น ทีวี ตู้เย็น หรือรถยนต์ ล้วนแล้วแต่มีความเสี่ยง และไม่สามารถคาดเดาได้ว่าจะเป็นภัยคุกคามรูปแบบใด อาจเป็นการก่อกวนให้ระบบสั่งซื้อผ่านแอพพลิเคชั่นสับสน หรือทีวีที่เชื่อมต่อกล้องผ่านอินเทอร์เน็ตอาจมีคนร้ายจับตามองอยู่ก็เป็นได้