posttoday

ลุ้นประมูล900วันเดียวกับ1800

13 ตุลาคม 2558

"ฐากร" เสนอ กทค.วันนี้ เคาะวันประมูลคลื่น 900 อาจใช้วันเดียวกับ 1800 วันที่ 11 พ.ย. ชี้เสร็จเร็วสะพัดกว่า2แสนล้าน

"ฐากร" เสนอ กทค.วันนี้ เคาะวันประมูลคลื่น 900 อาจใช้วันเดียวกับ 1800 วันที่ 11 พ.ย. ชี้เสร็จเร็วสะพัดกว่า2แสนล้าน

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) วันที่ 13 ต.ค. จะมีการเสนอเรื่องการกำหนดวันเคาะประมูลคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ โดยจะเสนอสองทางเลือกคือ ประมูลวันเดียวกับประมูลคลื่น 1800 ในวันที่ 11 พ.ย. ซึ่งคลื่น 1800 ประมูลตอนเช้า ส่วนคลื่น 900 ประมูลตอนบ่าย ทางเลือกที่สองคือประมูลวันถัดไป

ทั้งนี้ หากประมูลคลื่นได้เร็ว การให้บริการ 4จี เริ่มได้ตั้งแต่ต้นปี 2559 ก็อาจมีเงินสะพัดกับอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับ 4จี เช่น การลงทุนติดตั้งสัญญาณ การเปลี่ยนอุปกรณ์ เปลี่ยนมือถือเป็น 4จี รวมถึงการใช้บริการข้อมูลหรือดาต้าที่มากขึ้นในช่วงเทศกาลต้นปี จะเป็นเงินสะพัดจาก 4จี รวมถึงกว่า 2 แสนล้านบาท แต่หากประมูลช้า เริ่มได้ไตรมาส 2 หรือเดือน เม.ย.ปีหน้า ก็จะมีเงินแค่กว่า 1.6 แสนล้านบาท เข้ามาช่วยรัฐอัดฉีดระบบเศรษฐกิจ

สำหรับจำนวนเงินดังกล่าว คาดเป็นเงินนำส่งเข้าแผ่นดินกว่า 7.3 หมื่นล้านบาท เงินลงทุนจาก โอเปอเรเตอร์ ที่ระบุตามแผนที่ส่งให้ กสทช.รับทราบ จะเป็นเงินรวมกว่า 1.5 แสนล้านบาท หรือผู้ชนะประมูลแต่ละใบอนุญาต จะลงทุนใบละกว่า 4 หมื่นล้านบาท มีทั้งหมด 4 ใบ ส่วนระยะยาว 5 ปี คาดจะมีเงินสะพัดกว่า 1.03 ล้านล้านบาท

ขณะที่การประมูลในแต่ละคลื่น จะมีผู้เข้าร่วมประมูลคลื่นละไม่น้อยกว่า 4 รายแน่ โดยคลื่น 1800 ที่ปิดรับการยื่นซองไปแล้ว มีผู้ยื่นซอง 8 รายจาก 4 กลุ่ม ส่วนคลื่น 900 จะให้ยื่นซองวันที่ 22 ต.ค.นี้ ที่ผ่านมามีผู้มารับซองไปแล้ว 8 บริษัท

ด้าน นายวิชัย เบญจรงคกุล นายกกิตติมศักดิ์สมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า โครงสร้างพื้นฐานสมัยใหม่ส่งเสริมให้คนไทยมีความสามารถต่อเชื่อมกับอินเทอร์เน็ตมากขึ้น เรียกได้ว่าไทยเข้าสู่ยุคของอินเทอร์เน็ตอีโคโนมี ที่จะเข้ามาส่งเสริมผู้ประกอบการรายใหญ่และรายย่อยให้ทำงานและบริการด้านการค้าขายได้เต็มที่มากขึ้น ถือว่าเป็นโอกาสต่อยอดจากธุรกิจแบบเดิม

"ผมมองว่าผู้ให้บริการทุกค่ายพร้อมจะลงทุนโครงสร้างพื้นฐานรวมกว่า 2-3 แสนล้านบาท เพราะผู้ให้บริการย่อมต้องการที่จะทำธุรกิจให้ครบและรองรับลูกค้าทุกกลุ่ม ถ้าต้องลงทุนในสเกลยิบย่อยมันไม่คุ้ม การทำอินฟราสตรักเจอร์แชริ่ง ดาต้าเซ็นเตอร์แชริ่ง หรือแม้กระทั่งลงทุนไฟเบอร์ทูโฮมร่วมกัน จนไปถึงขั้นการทำอินเตอร์เนชั่นแนลเกตเวย์ เพื่อให้เข้าใช้งานเว็บไซต์ต่างประเทศได้เร็วขึ้นในค่าใช้บริการต่ำลง" นายวิชัย กล่าว