posttoday

เปิดกึ๋น 6 สตาร์ทอัพ พลิกวิกฤตสร้างโอกาส

12 ตุลาคม 2558

ทุกโครงการล้วนแต่สร้างสรรค์แอพพลิเคชั่นหรือแพลตฟอร์มใหม่ขึ้นมา จากการมองเห็นปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้น

โดย...วันเพ็ญ พุทธานนท์

นับถอยหลังอีกเพียง 2 วัน ก็จะถึงวันเดโม่เดย์ที่ 6 ทีมสตาร์ทอัพจากโครงการ dtac Accelerate Batch 3 จะมีโอกาสเสนอผลงานต่อสายตานักลงทุน และนั่นหมายความว่าเป็นโอกาสที่จะต่อยอดธุรกิจจากผลงานที่คิดค้นพัฒนาขึ้นเช่นกัน โดยทั้ง 6 ทีมดังกล่าวประกอบด้วย Skootar, Super RFQ, GIZTIX, Tech Farm, ZmyHome และ Take me Tour จึงน่าสนใจไม่น้อยถึงที่มาของแนวคิดทั้ง 6 ทีมดังกล่าว

เริ่มจาก สุวัฒน์ ปฐมภควันต์ จากทีม Skootar กับบริการเรียกเมสเซนเจอร์ ส่งเอกสาร วางบิล เก็บเช็กผ่านช่องทางออนไลน์ เว็บไซต์ และแอพพลิเคชั่นมือถือ เน้นเจาะกลุ่มเป้าหมายเอสเอ็มอี ร้านอาหารและธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ โดยเห็นโอกาสจากปัจจุบันธุรกิจเอสเอ็มอีในไทยมีกว่า 6 แสนราย และทุกรายต้องใช้เมสเซนเจอร์ จึงเกิดไอเดียที่จะใช้เมสเซนเจอร์ที่มีอยู่ให้เกิดประสิทธิภาพที่สุด โดยนับตั้งแต่เริ่มเปิดให้บริการตั้งแต่เดือน ก.พ.ที่ผ่านมาจนถึงขณะนี้มีผู้ใช้บริการแล้วกว่า 5,000 เที่ยวในกรุงเทพฯ จากเมสเซนเจอร์ที่เข้าร่วม 400 คน และจะเพิ่มเป็น 6,000 คนภายใน 1 ปีจากนี้

“ธุรกิจเอสเอ็มอีมักพบปัญหาเรื่องการเรียกบิล วางบิลเก็บเงิน รวมถึงการเรียกใช้วินมอเตอร์ไซค์ นอกจากนี้ยังเห็นเมสเซนเจอร์ในกรุงเทพฯ ที่มีมากกว่า 2 หมื่นคน ซึ่งมีจำนวนมากที่มีเวลาว่างในแต่ละวัน จึงมองเห็นโอกาสที่จะเป็นตัวกลางระหว่างเมสเซนเจอร์กับ
ผู้ที่ต้องการใช้บริการ” สุวัฒน์ กล่าว

นอกจากการให้บริการในกรุงเทพฯ แล้ว Skootar ยังมองโอกาสจะขยายบริการไปยังจังหวัดใหญ่ อาทิ หาดใหญ่ รวมทั้งการขยายตลาดในประเทศกลุ่มอาเซียน โดยการร่วมทุนกับพันธมิตรในประเทศนั้นๆ หรือการขายแพลตฟอร์มให้แก่ผู้ที่สนใจ

ต่อด้วย Super RFQ ระบบออนไลน์ที่ช่วยให้การจัดซื้อวัสดุก่อสร้างง่ายขึ้น ช่วยให้ผู้รับเหมาก่อสร้างหาวัสดุได้ง่ายขึ้นด้วยใบขอราคาผ่านระบบและให้ผู้ขายสินค้ามาค้นผ่านระบบพร้อมเสนอราคา ทำให้ผู้ซื้อและผู้ขายได้สินค้าและราคาที่ตรงกับความต้องการ

ทูนธรรม พัฒนเตชะ ผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการบริหาร Super RFQ กล่าวว่า หลังจากเปิดให้บริการมาเพียง 1 สัปดาห์ ปัจจุบันมีผู้ซื้อ 20 บริษัท และผู้ขาย 130 บริษัทเข้ามาในระบบแล้วจากฐานข้อมูลผู้ขายรวมกว่า 1 แสนราย

ที่มาของบริการนี้มาจากประสบการณ์ในวงการก่อสร้างตั้งแต่หลักร้อยล้านถึงพันล้าน พบว่าการซื้อขายวัสดุก่อสร้างยังล้าหลัง ใช้การขอราคาทางแฟกซ์ เปรียบเทียบราคาหลายครั้งจนเกิดความสับสน จึงทำแพลตฟอร์มเพื่อให้การซื้อขายวัสดุง่ายขึ้น

ด้าน สิทธิศักดิ์ วงศ์สมนึก ผู้ร่วมคิดค้นและประธานกรรมการบริหาร GIZTIX ตลาดซื้อขายบริการขนส่งและโลจิสติกส์ออนไลน์ พร้อมบริการครบวงจรด้านการขนส่ง กล่าวว่า การคิดค้นมาร์เก็ตเพลสด้านการขนส่งครั้งนี้ เนื่องจากครอบครัวทำธุรกิจขนส่ง เห็นความยุ่งยากที่เกิดขึ้นทั้งเรื่องพิธีศุลกากร การขนส่งสินค้าที่ต้องวิ่งรถเปล่าขากลับ ค่าขนส่งที่แตกต่างกัน ทำให้คิดค้นบริการนี้ขึ้นเพื่อเพิ่มความสะดวกให้ผู้ประกอบการขนส่งและผู้ที่ต้องการใช้บริการขนส่ง

ทั้งนี้ จะใช้ฐานข้อมูลจากสมาคมชิปปิ้งที่มีสมาชิกกว่า 1,500 ราย และผู้ประกอบการขนส่งและชิปปิ้งที่จดทะเบียนบริษัทกว่า 2 หมื่นบริษัท โดยจะให้บริการทั้งการขายซอฟต์แวร์ การพัฒนาให้บริการผ่านมือถือและมีแผนจะขยายบริการไปในต่างประเทศไม่ต่ำกว่า 10 ประเทศในอาเซียน

อีกโครงการที่โดดเด่นไม่แพ้กันคือ Tech4Farm โดย อานนท์ บุณยประเวศ หนึ่งในผู้ร่วมพัฒนา เล่าว่า ได้พัฒนาอุปกรณ์เล่นน้ำซึ่งเป็นเครื่องมือตรวจสอบคุณภาพน้ำสำหรับเกษตรกรยุคใหม่ที่ต้องการลดความเสี่ยงของปัญหาต่างๆ ที่เกิดจากน้ำไม่เหมาะสมต่อสัตว์น้ำที่เลี้ยง ซึ่งที่มาของโครงการนี้มาจากการเห็นปัญหาของอาชีพประมง เช่น ผู้เลี้ยงปลา กุ้งที่ขาดอุปกรณ์วัดคุณภาพน้ำในราคาที่จับต้องได้ จึงคิดค้นอุปกรณ์ที่สามารถดูคุณภาพน้ำได้ตลอด 24 ชั่วโมง และมีฟังก์ชั่นแจ้งเตือนเมื่อคุณภาพน้ำมีแนวโน้มจะเป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำด้วย

ณัฐพล อัศว์วิเศษศิวะกุล ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท ZHome เจ้าของเว็บไซต์ขายและให้เช่าที่อยู่อาศัยที่ผู้ประกาศต้องเป็นเจ้าของเท่านั้น ภายใต้ชื่อ ZmyHome กล่าวว่า พัฒนาเว็บไซต์นี้ขึ้นเพื่อแก้ปัญหาอสังหาริมทรัพย์ในเมืองไทยที่การขายบ้านใช้เวลานาน เพราะขาดฐานข้อมูลกลางสำหรับผู้ซื้อและผู้ขายในการศึกษาก่อนซื้อหรือขาย จึงตั้งใจให้เป็นเว็บไซต์ที่อำนวยความสะดวกในการซื้อขายภายใต้เงื่อนไขที่ผู้ลงประกาศต้องเป็นเจ้าของจริงเท่านั้น ทำให้ไม่ต้องเสียค่านายหน้า และในอนาคตอันใกล้จะพัฒนาการให้บริการผ่านโทรศัพท์และมีฐานข้อมูลให้ลูกค้ามากขึ้น

ปิดท้ายที่ Take me Tour ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มตลาดกลางออนไลน์สำหรับทัวร์หนึ่งวัน ซึ่งเป็นทัวร์ที่สร้างขึ้นโดยคนท้องถิ่น พร้อมวางเป้าหมายจะเป็นมาร์เก็ตเพลสสำหรับทัวร์หนึ่งวันที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย

จะเห็นได้ว่าทุกโครงการล้วนแต่สร้างสรรค์แอพพลิเคชั่นหรือแพลตฟอร์มใหม่ขึ้นมา จากการมองเห็นปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้น แล้วหาวิธีแก้ปัญหาหรืออำนวยความสะดวกให้เพิ่มขึ้น หรือเรียกได้ว่าเป็นการพลิกวิกฤตเพื่อสร้างโอกาสนั่นเอง