posttoday

"สมคิด"เน้นปฏิรูปศก.ฐานล่างให้เข้มแข็งก่อนขยายส่งออก

19 กันยายน 2558

รองนายกฯ ด้านเศรษฐกิจปาฐกถาเวทีสัมมนา สนช. ระบุ เน้นปฏิรูปเศรษฐกิจฐานล่างให้เข้มแข็งก่อนขยายส่งออก

รองนายกฯ ด้านเศรษฐกิจ ปาฐกถาเวทีสัมมนา สนช. ระบุ เน้นปฏิรูปเศรษฐกิจฐานล่างให้เข้มแข็งก่อนขยายส่งออก

วันที่ 19 ก.ย. สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จัดโครงการสัมมนาสมาชิกสนช. ประจำปี 2558 โดยมี นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช. กล่าวเปิดการสัมมนาตอนหนึ่งว่า สนช.เป็นองค์กรที่มีความสำคัญในการวางรากฐานที่มั่นคง ในการปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่ยั่งยืน ซึ่งหมายถึงประชาธิปไตยที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม โดยการดำเนินการของสนช.ที่ผ่านมาเป็นการดำเนินงานตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 นอกจากงานด้านกฎหมายสนช.ยังช่วยสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ให้เข้าใจหน้าที่ของสนช.ด้วย

ขณะที่ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ด้านเศรษฐกิจ ปาฐกถาในหัวข้อ “เศรษฐกิจและการเมืองการปกครองของประเทศไทย” ตอนหนึ่งว่า การเข้ามาสู่ตำแหน่งในครั้งนี้ส่วนตัวไม่เคยคิดว่าต้องกลับมาอีก คิดด้วยซ้ำว่าจะเลิกการเมืองโดยเด็ดขาด แต่หลายเรื่องพออายุมากขึ้นบางเรื่องต่อให้เดินหนีก็ต้องประสบ เพราะเป็นเรื่องของโชคชะตา ซึ่งมักส่งให้มาทำงานในช่วงที่ยากลำบากไม่เคยสบายแต่ก็ถือว่าเป็นหน้าที่

ทั้งนี้ ในช่วงที่ปลอดการเมืองส่วนตัวได้เดินทางบ่อยก็คิดว่าจะทำอย่างไรให้ประเทศไทยทัดเทียมประเทศอื่น ซึ่งตอนที่เป็นที่ปรึกษาคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ดูแล้วว่าถ้าวิธีการทำงานยังเป็นแบบนี้อยู่จะเป็นปัญหา จึงแอบสั่งการไว้เพื่อเป็นการเตรียมพร้อม เมื่อเข้ามาทำงานก็สั่งการให้ดำเนินการได้ทันที โดยนำนโยบายที่คิดไว้ล่วงหน้าเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ภายใน 2 สัปดาห์หลังรับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี 

นอกจากนี้ ยังได้กำชับให้ทุกฝ่ายกำกับดูแลเรื่องการใช้จ่ายให้ดี พร้อมทั้งพยายามทำในสิ่งที่ถูกต้องไม่ให้เกิดผลเสีย ซึ่งนโยบายส่วนใหญ่ได้รับมอบหมายจากนายกฯ โดยขอให้ตนช่วยขับเคลื่อนให้เดินต่อ ซึ่งพยายามปฏิบัติตามนั้น ส่วนการหยิบยกโครงการกองทุนหมู่บ้าน ซึ่งเป็นกลไกที่เกิดขึ้นมาหลายปีแล้วมาเป็นกลไกหนึ่งในการบริหารราชการของรัฐบาลขณะนี้ เพราะช่วงที่ผ่านมาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ทำให้ชาวนารายได้ไม่พอ ประกอบกับสิ่งที่รัฐบาลให้ไปไม่เพียงพอ

อย่างไรก็ตาม เมื่ออำนาจซื้อไม่เพียงพอทำให้เศรษฐกิจโดยรวมขาดพลัง เปรียบเหมือนคนแก่ที่ร่างกายยังดี แต่ชีพจรเต้นไม่แข็งแรง หากปล่อยนานไปทั้งร่างก็จะเกิดปัญหา เหมือนประเทศที่ขณะนี้ธุรกิจระดับบนยังแข็งแรง แต่อำนาจการซื้อของฐานรากอ่อนแอ ก็จะทำให้ผลประกอบการรายใหญ่ชะลอตัว ลักษณะดังกล่าวหากปล่อยไว้นานจะเกิดปัญหาทางสังคม เศรษฐกิจ อีกทั้งความขัดแย้งจะเกิดขึ้น

"คนจนจะคิดว่าเราละเลยทำให้ใครมาปลุกปั่นได้ง่ายมาก รัฐบาลจึงตัดสินใจใช้ 2 กลไก คือ 1.กลไกกองทุนหมู่บ้าน และ2.กลไกตำบลละ 5 ล้านบาท เพื่อเป็นการหว่านเมล็ดให้เกิดโครงการที่ยั่งยืนได้ ซึ่งสิ่งที่ตนบอกนายกฯ คือทำอย่างไรให้โครงสร้างเศรษฐกิจสองขาเท่ากัน คือขาการส่งออก และขาของชนบทที่จะทำอย่างไรใหแข็งแรงสมบูรณ์ เป็นที่มาของการปฏิรูปการเกษตร การท่องเที่ยว และการทำให้บรรยากาศการค้าขายคึกคัก ซึ่งความสามารถของประเทศจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อเราสร้างความเข้มแข็งภายในได้"นายสมคิด กล่าว 

รองนายกฯ กล่าวต่อว่า 30 ปีที่ผ่านมา ประเทศเน้นเรื่องการส่งออกทั้งที่จริงแล้วส่วนที่ใหญ่ที่สุดคือการค้าภายในประเทศ ส่วตัวจึงคิดว่าจุดมุ่งหมายในการพัฒนาประเทศไม่ใช่การมองจีดีพี แต่ต้องมองที่รากฐานในประเทศ จึงเป็นที่มาของการปฏิรูป อะไรที่ทำได้ก่อนให้ทำเลย ซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐบาล และคสช. เนื่องจากมีเวลาทำงานอีก 1 ปีครึ่งตามโรดแม็ปใหม่ ทั้งนี้ ประเทศไทยต้องพิจารณา 3 ด้านหลัก คือ 1.ทำอย่างไรให้โครงสร้างเศรษฐกิจ 2 ขาเท่ากัน คือขาการส่งออกกับขาชนบท ซึ่งส่วนตัวเชื่อว่าทำได้แต่ทำยาก เพราะการบริหารราชแผ่นดินของเรายังล้าสมัย

2.ความสามารถของประเทศ ที่ผ่านมาความสามารถของประเทศเราอยู่ที่การส่งออก แต่วันนี้ขาที่แข็งแรงของการส่งออกเริ่มจะเป็นเก๊า สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ที่มีอยู่เริ่มล้าสมัย ดังนั้น ต้องดูตัวอย่างของเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และอิตาลี ว่าทำอย่างไร รวมทั้งระบบการศึกษาโดยเฉพาะมหาวิทยาลัยที่เน้นผลิตบุคลากรโดยไม่ตอบโจทย์ความต้องการพื้นฐานทางเศรษฐกิจแต่ละพื้นที่ เช่น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ที่อยู่ในพื้นที่ที่มีความเข้มแข็งด้านการท่องเที่ยว และการประมง แต่กลับผลิตนักศึกษาให้เหมือนกับส่วนกลาง

และ3.ระเบียบวีธีการบริหารราชการแผ่นดินที่ยังล้าสมัย เช่น การจัดสรรงบประมาณที่ยังเป็นแบบรายจ่าย รายรับมีเพียงการจัดเก็บภาษี ดังนั้น การปฏิรูปจะทำได้หรือไม่อยู่ที่รัฐบาล แต่หัวใจของการปฏิรูปคือการขับเคลื่อนของประชาชน ถ้ายังไม่สามารถทำให้ประชาชนตื่นตัวได้ก็ยังไม่สามารถปฏิรูปได้ เช่น ปัญหาการคอร์รัปชัน ถ้าประชาชนไม่ตื่นตัวคนหน้าด้านก็ยังอยู่ ไม่ใช่แค่ฝ่ายราชการที่หน้าด้าน แต่ถ้าภาคเอกชนไม่ให้ เขาก็ไม่รับอยู่แล้ว