posttoday

ฟูจิตสึขยายฐานลูกค้า เจาะเอสเอ็มอีรับตลาดโต

31 สิงหาคม 2558

ฟูจิตสึร่วมมือกับคู่ค้าลุยขยายฐานลูกค้าใหม่ๆมากขึ้น เจาะกลุ่มค้าปลีก

โดย...ณัฏฐ์ธยาน์ สุทธิเจริญ

หลังธุรกิจขนาดเล็กอย่างร้านกาแฟ ร้านอาหารขนาดเล็กและมินิมาร์ท เริ่มมีการขยายตัวในพื้นที่ต่างๆ ทั้งใน กทม.และต่างจังหวัดมากขึ้น ความต้องการเครื่องคิดเงินที่มีความสามารถเป็นได้ทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ก็เริ่มเติมเต็มความต้องการของตลาดมากขึ้น แม้ว่าฟูจิตสึฯ จะมีสินค้าและบริการตอบโจทย์ภาคธุรกิจขนาดใหญ่อยู่แล้ว แต่ก็มองโอกาสในการขยายไปยังฐานลูกค้าใหม่ๆ ด้วยการร่วมมือกับคู่ค้ามากขึ้น

ภาสกร เงินเจริญกุล ผู้อำนวยการฝ่ายภาครัฐและกลุ่มค้าปลีก บริษัท ฟูจิตสึ ซิสเต็มส์ บิสซิเนส (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า สำหรับกลุ่มค้าปลีก ไม่ว่าจะเป็นร้านสะดวกซื้อ ค้าปลีก ร้านขายยา ร้านอาหารและร้านขายเสื้อผ้านั้น ต่างก็ต้องการเครื่องคิดเงินที่สามารถตอบโจทย์การทำงานและเพิ่มรายการสินค้าได้

“ตามปกติบริษัทจะผลิตเครื่องคิดเงินสำหรับกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่เท่านั้น แต่ก็พบว่าสินค้าประเภทเครื่องคิดเงินนี้ มีความต้องการในกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและย่อมเช่นกัน เพราะจำนวนร้านค้ารายย่อยมีจำนวนเพิ่มขึ้นถือว่าเป็นฐานลูกค้าใหม่ ที่บริษัทให้ความสนใจ แต่ไม่สะดวกที่จะเข้าไปทำตลาดเอง จึงได้คุยกับทางคู่ค้าที่มีความแข็งแกร่งอย่าง บริษัท อินแกรมไมโคร เข้าไปทำตลาดในกลุ่มลูกค้ารายย่อยทั้ง กทม.และต่างจังหวัดมากกว่า คาดว่าจะเริ่มทำตลาดอย่างเป็นทางการในไตรมาส 4 ของปีนี้”ภาสกร กล่าว

ทางด้านโปรแกรมสำเร็จรูปสำหรับงานขายหน้าร้าน หรือ พีโอเอส (POS) นั้น สามารถคิดเงิน บันทึกรายการอาหาร ชำระเงินและแจ้งรายการขายทั้งแบบรายวันและรายสัปดาห์ เพื่อให้ร้านค้าขนาดเล็กสามารถจัดเก็บข้อมูล โดยไม่ต้องจดบันทึกเองและคิดเงินได้รวดเร็ว

“ระบบการทำงานของเครื่องนั้น ผู้ใช้งานสามารถสั่งเพิ่มหรือลดข้อมูล หรือเมนูอาหารต่างๆ ได้เอง ทั้งยังเชื่อมต่อกับเครื่องรับชำระเงินผ่านบัตรเครดิต รวมทั้งบัตรอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ได้ทันที เพื่อให้คิดคำนวณบิลและชำระเงินให้ลูกค้าได้ไวขึ้น ซึ่งระบบเบื้องต้นจะมีการเก็บรายการสินค้าและเมนูอาหารเบื้องต้นไว้บนคลาวด์ เมื่อต้องการใช้งานสามารถล็อกอินและใช้งานได้ทันที”ภาสกร กล่าว

ผู้ใช้งานไม่ต้องกังวลเรื่องภาษา เพราะระบบรองรับเมนูภาษาไทย เพื่อให้ใช้งานได้โดยง่าย ทั้งยังสามารถกำหนดส่วนลด รับสมัครสมาชิกของร้านและกรอกข้อมูลได้ทันที เพื่อกำหนดสิทธิพิเศษให้ลูกค้าแต่ละรายได้ทันที โดยฟูจิตสึฯ ตั้งเป้าการขายซอฟต์แวร์ช่วงแรกไว้ที่ 200-300 ไลเซนต์ แต่มีการเปลี่ยนแปลงทีมบริหารของบริษัทคู่ค้า ทำให้ช่วงแรก ตั้งเป้าเพียง 100-200 ไลเซนต์ก่อน หลังจากเจรจาครั้งต่อไป น่าจะมีข้อสรุปที่ชัดเจนกว่านี้

ภาสกร กล่าวว่า บริษัทไม่ค่อยกังวลในส่วนของลูกค้า เพราะจังหวะที่เศรษฐกิจชะลอตัวนั้น การขอเงินทุนหรือเครดิตจากทางธนาคารน่าจะได้ผลตอบรับที่ดี เพราะธนาคารเองก็ต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจด้านการลงทุน เชื่อว่าจะมีร้านค้ารายย่อยให้ความสนใจกับเครื่องคิดเงินรุ่นใหม่นี้

อย่างไรก็ตาม ราคาขายโปรแกรมสำเร็จรูปสำหรับงานขายหน้าร้าน หรือพีโอเอส (POS) นั้น จะแบ่งเป็นส่วนของฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ โดยการขายครั้งแรกจะอยู่ที่ 4 หมื่นบาท จากนั้นจะคิดค่าไลเซนต์หลักพันบาท/ปี ทำให้ร้านค้าไม่ต้องแบกต้นทุนมากเกินไป ส่วนบริการหลังการขายนั้นทางคู่ค้าจะเป็นคนดูแล

ทั้งนี้ ตัวเครื่องประกอบด้วยหน้าจอของฟูจิตสึ รุ่น Team POS A20, Thermal Printer FP-1000, Cash Drawer ลูกค้านำไปวางที่หน้าร้านได้ทันที ส่วนแอพพลิเคชั่นและฟีเจอร์ต่างๆ จะติดตั้งมาพร้อมกับเครื่อง ข้อมูลต่างๆ ของร้าน รวมทั้งรายงานการขายจะเก็บไว้บนคลาวด์ เพื่อให้ง่ายต่อการเรียกดู