posttoday

โอโตยะยันไม่พบสิ่งผิดปกติในเนื้อหมู

20 สิงหาคม 2558

โอโตยะเผยผลตรวจไม่พบสิ่งผิดปกติในเนื้อหมู ชี้เป็นแค่เส้นเลือด เรียกร้องลูกค้าที่นำข้อความกล่าวหาไปแพร่บนโลกออนไลน์รับผิดชอบ

โอโตยะเผยผลตรวจไม่พบสิ่งผิดปกติในเนื้อหมู ชี้เป็นแค่เส้นเลือด เรียกร้องลูกค้าที่นำข้อความกล่าวหาไปแพร่บนโลกออนไลน์รับผิดชอบ

เมื่อวันที่ 20 ส.ค. ผู้บริหาร บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด (ซีอาร์จี) ผู้รับลิขสิทธิ์แฟรนไชส์ร้านอาหารญี่ปุ่น โอโตยะ พร้อมด้วยนักวิชาการทีมสัตวแพทย์วิชาการสุกร แถลงชี้แจงผลการวินัจฉัยเนื้อหมูที่ใช้ประกอบอาหารภายในร้าน หลังถูกลูกค้าร้องเรียนว่าพบสิ่งแปลกปลอม โดยระบุว่า จากผลการวินิจฉัย ไม่พบสิ่งผิดปกติ และ สิ่งแปลกปลอมนั้นเป็นเพียงเส้นเลือดที่อยู่ในเนื้อหมูสันนอก ซึ่งไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค

ทั้งนี้ต้องการให้ลูกค้าที่เผยแพร่เรื่องร้องเรียนผ่านโลกออนไลน์ร่วมแสดงความรับผิดชอบผ่านสื่อ เพื่อขอความเป็นธรรมให้กับโอโตยะ ที่ถูกพาดพิง

นางอำไพพรรณ จิราธิวัฒน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ แบรนด์ โอโตยะ กล่าวว่า ฝ่ายควบคุมคุณภาพของเครือเบทาโกร ฟู้ด ซึ่งเป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเนื้อหมู S-Pure ที่ร้านโอโตยะนำมาประกอบอาหาร ได้นำเนื้อหมูชิ้นเดียวกับที่นำไปใช้ประกอบอาหารเสิร์ฟให้ลูกค้า ไปทำการตรวจสอบ ซึ่งผลการตรวจสอบในห้องแล็ปปรากฎว่า “ไม่พบสิ่งผิดปกติแต่อย่างใด” โดยสิ่งแปลกปลอมนั้นเป็นเพียงเส้นเลือดที่อยู่ในเนื้อสันนอก ซึ่งไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค ทางบริษัทฯ จึงติดต่อลูกค้าเพื่อที่จะแจ้งอธิบายผลการตรวจสอบ แต่ก็ติดต่อลูกค้าไม่ได้ และลูกค้าซึ่งอ้างว่าได้ส่งชิ้นหมูไปตรวจสอบที่สถาบันต่างๆ ก็มิได้แจ้งผลการตรวจสอบจากทางลูกค้ากลับมาแต่อย่างใด จากนั้นก็เริ่มมีการส่งต่อข้อความต่างๆทั้งในพันทิป และ ช่องทางโซเชียลมีเดียต่างๆ ว่าเป็นสิ่งแปลกปลอมแน่นอน

อย่างไรก็ตามเมื่อลูกค้าไม่ได้มีการแจ้งผลการตรวจสอบจนถึงปัจจุบัน บริษัทฯ จึงมีความจำเป็นต้องชี้แจงข้อเท็จจริง เนื่องจากข้อความ และข่าวดังกล่าวมีผลกระทบต่อชื่อเสียง และความน่าเชื่อถือของ แบรนด์ โอโตยะ และบริษัทฯ

"ขอถือโอกาสนี้ วิงวอนไปยังลูกค้าที่ร้องเรียนฯ กรุณาร่วมแสดงความรับผิดชอบ พูดข้อเท็จจริงผ่านสื่อ เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้กับโอโตยะ เนื่องจากเราถูกพาดพิงในโลกโซเชียล และกระแสสังคม"นางอำไพพรรณ กล่าว

นายสัตวแพทย์อลงกรณ์ บัวเขียว ผู้จัดการแผนกอาวุโสบริการวิชาการ ฝ่ายควบคุมคุณภาพและสุขภาพสัตว์แบรนด์ S-Pure กล่าวยืนยันว่า ในทางวิทยาศาสตร์จะไม่พบตัวเต็มวัยของพยาธิใดๆ ของสุกร ที่อาศัยอยู่ในกล้ามเนื้อ และการวินิจฉัยว่าสิ่งแปลกปลอมดังกล่าวจะเป็นพยาธิหรือไม่ จะต้องส่งตัวอย่างที่สงสัยตรวจในห้องปฏิบัติการโดยใช้ กล้องสเตอริโอสโคป หรือการตรวจทาง Histopath อย่างละเอียดจึงจะเป็นวิธีการตรวจสอบที่ถูกต้อง

สำหรับ เนื้อหมู S-Pure เป็นเนื้อหมูคุณภาพที่มาจากสุกรขุนที่เลี้ยงในฟาร์มปิด ผ่านการรับรองมาตรฐานฟาร์มเลี้ยงสัตว์หรือ GAP จากกรมปศุสัตว์ มีระบบความปลอดภัยทางชีวภาพ คือมีระบบการป้องกัน และควบคุมโรคในฟาร์มเลี้ยงสัตว์ที่มีประสิทธิภาพ เป็นที่ยอมรับอย่างสากลว่าสามารถป้องกันไม่ให้เชื้อโรคจากภายนอกฟาร์มที่อาจติดมากับคน สัตว์ สิ่งของ และอุปกรณ์ต่างๆ ตลอดจนยานพาหนะแพร่เข้าสู่ภายในฟาร์มได้ การออกแบบโครงสร้าง และการจัดการของฟาร์มดังกล่าว มีระบบการจัดการฟาร์มเพื่อป้องกันปัญหาพยาธิในสุกรขุน ซึ่งทุกกระบวนการมีการควบคุม และตรวจสอบโดยสัตวแพทย์ นักวิชาการส่งเสริมการเลี้ยง และเจ้าหน้าที่ประกันคุณภาพที่มีความรู้ด้านสัตวศาสตร์ เพื่อให้เกิดการปฏิบัติอย่างเคร่งครัด และถูกต้องตามหลักวิชาการ

ขณะที่ นายภวิชช์ อ่ำทิม ผู้จัดการทั่วไปแบรนด์ โอโตยะ กล่าว ช่วงที่โอโตยะถูกพาดพิงในกระแสโซเชียลมีเดีย ส่งผลกระทบต่อยอดขายบ้าง แต่เชื่อว่าหลังจากที่ได้ทำการชี้แจงข้อเท็จจริงผ่านสื่อต่างๆไปแล้ว จะทำให้ผู้บริโภคเข้าใจ และมั่นใจในคุณภาพอาหาร และการบริการของร้านโอโตยะ มากขึ้น