posttoday

ใช้หลังคาบ้านผลิตกระแสไฟฟ้าลดค่าไฟ

07 สิงหาคม 2558

“เอสพีซีจี” จับมือ “ควอลิตี้เฮ้าส์”ใช้หลังคาบ้านผลิตกระแสไฟฟ้า ชี้ช่วยประหยัดค่าไฟลดมลภาวะโลกร้อน

“เอสพีซีจี” จับมือ “ควอลิตี้เฮ้าส์”ใช้หลังคาบ้านผลิตกระแสไฟฟ้า ชี้ช่วยประหยัดค่าไฟลดมลภาวะโลกร้อน

เมื่อวันที่ 7 ส.ค.58 ที่โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ เซ็นทรัลลาดพร้าว บริษัท ควอลิตี้ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) ร่วมกับ บริษัท เอสพีซีจี จำกัด (มหาชน) ทำพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เพื่อร่วมกันศึกษา ออกแบบ และพัฒนาระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาบ้านพักอาศัยของโครงการคิวเฮ้าส์

นายชัชชาติ  สิทธิพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท ควอลิตี้เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า  ควอลิตี้เฮ้าส์มีแนวคิดด้านนวัตกรรมสำหรับการอยู่อาศัยในรูปแบบ Smart Home เพื่อให้ลูกค้าได้รับประโยชน์จากนวัตกรรมการจัดการพลังงานในบ้าน ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ซึ่งความร่วมมือในการพัฒนาระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอามิตย์บนหลังคาบ้านพักอาศัย หรือโซลาร์รูฟ (Solar  Roof) กับเอสพีซีจีในครั้งนี้จะสามารถตอบโจทย์การพัฒนาที่อยู่อาศัยของบริษัทฯ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ การติดตั้งโซลาร์รูฟ ลูกค้าจะได้รับประโยชน์ด้านการลดการใช้พลังงานไฟฟ้าภายในบ้าน ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายใช้ไฟฟ้า และแผงโซลาร์รูฟยังช่วยลดความร้อนบนหลังคาทำให้บ้านเย็นลง อีกทั้งสอดคล้องกับนโยบายของภาครัฐในด้านการลดการนำเข้าพลังงาน และสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศ นอกจากนี้พลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้จากแสงอาทิตย์เป็นพลังงานสะอาดที่ได้จากธรรมชาติ  จึงเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ช่วยลดการสร้างคาร์บอนได้ออกไซด์สู่อากาศและปรากฎการณ์เรือนกระจกที่ส่งผลให้เกิดภาวะโลกร้อน

ด้าน น.ส.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการบมจ.เอสพีซีจี (SPCG) กล่าวว่าโซลาร์รูฟ เป็นธุรกิจต่อยอดจากโครงการโซลาร์ฟาร์มของเอสพีซีจี โดยการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับบริษัท ควอลิตี้เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) ในครั้งนี้ นับเป็นครั้งแรกกับบริษัทอสังหาริมทรัพย์  โดยจะติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้านทั้งในโครงการเก่าและใหม่ของควอลิตี้ เฮ้าส์ ที่เปิดตัวใหม่เฉลี่ยปีละประมาณ 1,500 ยูนิต ซึ่งคาดว่าจะมีผู้สนใจติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ในสัดส่วนไม่ต่ำกว่า 5%  ทั้งนี้การติดแผงโซลาร์เซลล์ สำหรับหลังคาบ้านนั้นจะมีกำลังการผลิตราว 2-10 กิโลวัตต์  โดยจะขึ้นอยู่กับขนาด ซึ่งจะทำให้ประหยัดค่าไฟฟ้าได้เดือนละ 2,000-6,000 บาท แล้วแต่ขนาดของบ้าน นอกจากนี้ ภายในปี 2558 บริษัทได้ตั้งเป้าหมายมียอดขายแผงโซลาร์เซลล์อยู่ที่ 500 ล้านบาท  ขณะที่ในปีที่ผ่านมามียอดขายราว 200 ล้านบาท  โดยจะมีการเติบโตทั้งจากโครงการโซลาร์ฟาร์ม และโครงการโซลาร์รูฟ

ขณะเดียวกัน บริษัทได้ปรับแผนการสร้างโรงงานผลิตแผงโซลาร์เซลล์ที่ร่วมกับพันธมิตรญี่ปุ่นฝ่ายละ 50% จากเดิมที่จะตั้งในจ.นนทบุรี ด้วยกำลังการผลิตเริ่มต้นที่ 10 เมกะวัตต์ มาเป็นการตั้งโรงงานในจ.นครราชสีมา ซึ่งมีพื้นที่ใหญ่กว่า และเพิ่มกำลังการผลิตเป็น 100 เมกะวัตต์ ซึ่งคาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จและเริ่มผลิตในช่วงต้นปี 2559 ด้วยงบลงทุนราว 500 ล้านบาท พร้อมตั้งเป้าหมายที่จะมีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 500 เมกะวัตต์ในระยะเวลา 3 ปี เพื่อรองรับการขยายตลาดในประเทศและประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ด้วย

น.ส.วันดี กล่าวว่าบริษัทคาดว่ารายได้ในปีนี้จะทำได้ไม่ต่ำกว่า 5 พันล้านบาท และกำไรสุทธิจะทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ หลังจากรับรู้การผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 260 เมกะวัตต์เต็มปี ขณะที่วางเป้าหมายจะมีกำลังการผลิตแตะ 500 เมกะวัตต์ในปี 2562 จาก ณ สิ้นปีนี้ที่คาดว่าจะมีกำลังการผลิตทั้งหมด 280-290 เมกะวัตต์

"ปีนี้เรามั่นใจว่ารายได้ของเราจะยังเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ ซึ่งมาจากการรับรู้กำลังการผลิต 260 เมกะวัตต์เต็มปี ในส่วนของการเลื่อนการเปิดรับซื้อขายไฟฟ้าของภาครัฐฯนั้นบริษัทฯไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใด เพราะเราไม่ได้นำโครงการดังกล่าวมาคำนวณในเป้าหมายรายได้ในปีนี้"น.ส.วันดีกล่าว

สำหรับแผนการขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าในต่างประเทศนั้น น.ส.วันดี กล่าวว่าในส่วนของการร่วมลงทุนในโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศญี่ปุ่น คาดว่าจะสรุปรายละเอียดทั้งหมดภายในไตรมาส 3/58 โดยจะมีกำลังการผลิตทั้งหมด 130 เมกะวัตต์ ซึ่งบริษัทถือหุ้นในสัดส่วน 33% และคาดว่าจะใช้งบลงทุนราว 4,000-5,000 ล้านบาท โดยเงินลงทุนดังกล่าวจะมาจากเงินกู้สถาบันทางการเงินในประเทศญี่ปุ่นทั้งหมด เพื่อที่จะไม่ต้องเพิ่มทุน ให้เป็นผลกระทบต่อผู้ถือหุ้น

ส่วนการลงทุนโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศฟิลิปปินส์ ได้ชะลอออกไปจากเดิมที่คาดว่าจะแล้วเสร็จในปลายปีนี้ เนื่องจากมีความเสี่ยงในเรื่องของการได้รับใบอนุญาตซื้อขายไฟฟ้าที่จะออกให้เมื่อโครงการก่อสร้างแล้วเสร็จเท่านั้น ทำให้บริษัทปรับแผนเป็นการร่วมลงทุนในโรงไฟฟ้าที่ผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าแล้วแทนการเข้าลงทุนเองทั้งหมด โดยบริษัทฯคาดว่าจะได้ข้อสรุปในช่วงต้นปี 2559

นอกจากนี้ ในช่วงที่ผ่านมาบริษัทได้ร่วมมือกับพันธมิตรจากประเทศเมียนมาร์ เพื่อลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 1 เมกะวัตต์ ในเมืองมัณฑะเลย์ โดยบริษัทเข้าถือหุ้นในสัดส่วน 50% ซึ่งคาดว่าจะใช้เงินลงทุนรวมราว 100 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะสามารถเริ่มจำหน่ายไฟฟ้าได้ในช่วงต้นปี 2559 ด้านการขยายกำลังการผลิตในประเทศนั้น ปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างเจรจาร่วมทุนกับผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาตซื้อขายไฟฟ้าโครงการโซลาร์ฟาร์มค้างท่อ 2-3 ราย ซึ่งคาดว่าจะมีกำลังการผลิตราย 30-40 เมกะวัตต์ และน่าจะได้ข้อสรุปภายในปีนี้ สำหรับเงินที่ใช้ในการลงทุนทั้งหมดจะใช้กระแสเงินสดที่มีอยู่กว่า 3,000 ล้านบาท ยกเว้นการลงทุนในประเทศญี่ปุ่นที่จะใช้เป็นเงินกู้