posttoday

สคบ.เล็งคุมบรรจุภัณฑ์เกินขนาด

29 กรกฎาคม 2558

สคบ.เตรียมหารือผู้ประกอบการสินค้าอุปโภคบริโภค แก้บรรจุภัณฑ์เกินความเป็นจริง หลังพบซองขนม ขวดของกิน ของใช้ใหญ่เกินจริง 15-35%

สคบ.เตรียมหารือผู้ประกอบการสินค้าอุปโภคบริโภค แก้บรรจุภัณฑ์เกินความเป็นจริง หลังพบซองขนม ขวดของกิน ของใช้ใหญ่เกินจริง 15-35%

นายวีระชัย ชมสาคร รองเลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เปิดเผยว่า สคบ.เตรียม เชิญผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์อุปโภคบริโภคหารือในเรื่องการลดพื้นที่ว่างบรรจุภัณฑ์ให้เหมาะสมกับปริมาณจริงของสินค้าที่อยู่ในบรรจุภัณฑ์ หลังจากสคบ.สำรวจพบว่า มีสินค้าหลายประเภท โดยเฉพาะกลุ่มอาหารและสินค้าอุปโภค เช่น ขนมขบเคี้ยว ยาสระผม น้ำยาล้างจาน ฯลฯ มีบรรจุภัณฑ์ที่มีพื้นที่ว่างเฉลี่ย 15-35% ซึ่งเป็นพื้นที่ว่างที่ถือว่ามากเกินกว่าปริมาณสินค้าจริงที่อยู่ในบรรจุภัณฑ์

"แม้ว่าสินค้าที่อยู่ในบรรจุภัณฑ์จะมีน้ำหนักหรือปริมาณที่ตรงกับที่ระบุไว้ด้านข้างบรรจุภัณฑ์ แต่การที่บรรจุภัณฑ์ที่มีขนาดใหญ่เกินกว่าความเป็นจริง อาจทำให้ผู้บริโภคสับสนได้ เพราะผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยที่ตัดสินใจซื้อสินค้าเหล่านั้น เพราะเห็นบรรจุภัณฑ์ที่มีขนาดใหญ่ และคิดว่าปริมาณสินค้าด้านในจะมากใกล้เคียงกับขนาดบรรจุภัณฑ์"

สำหรับการหารือร่วมกับผู้ประกอบการสินค้าอุปโภคบริโภคในระยะอันใกล้นี้ อาจจะขยายผลไปถึงการออกเป็นข้อกำหนด หรือประกาศสคบ. หรือถ้าจะให้มีบทลงโทษ อาจจะต้องออกเป็นพ.ร.บ. ซึ่งจะต้องใช้เวลาฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องรอบด้าน เพราะอาจจะไปเกี่ยวข้องกับประเด็นกีดกันทางการค้า โดยเฉพาะปัจจุบันประเทศไทยกำลังจะเปิดประชาคมเศษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี ที่จะมีสินค้าจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามามากขึ้น หากไทยมีข้อกำหนดที่เข้มข้นเกี่ยวกับขนาดบรรจุภัณฑ์ แต่ประเทศเพื่อนบ้านไม่มี อาจกลายเป็นการกีดกันทางการค้าได้ จึงต้องหารืออย่างรอบคอบ

ทั้งนี้ ในหลายประเทศที่มีการพัฒนาแล้ว มีเกณฑ์เกี่ยวกับขนาดบรรจุภัณฑ์อย่างชัดเจน เช่น ช่องว่างระหว่างบรรจุภัณฑ์กับตัวสินค้าต้องไมเ่กินกี่เปอร์เซ็นต์ เป็นต้น ส่วนในประเทศไทย ปัจจุบันยังไม่มีข้อกำหนดที่ชัดเจนในประเด็นนี้ จะมีประเด็นเรื่องมาตรตวงวัดของน้ำหนักและปริมาณสินค้าที่ถูกต้องตรงกัน หรือความแข็งแรงของบรรจุภัณฑ์ที่ต้องเหมาะสมกับประเภทสินค้า การเลือกใช้ว้สดุของบรรจุภัณฑ์ที่ปลอดภัยทั้งกับตัวสินค้าและผู้ใช้ เช่น กลุ่มสารเคมีต้องใช้บรรจุภัณฑ์แบบใด เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม สคบ. ยังไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่าประเด็นนี้จะเห็นภาพที่ชัดเจนภายในเมื่อใด ซึ่งการร่วมมือกับบริษัท ยูนิลีเวอร์ ประเทศไทย เหมือนเป็นการโยนหินถามทางไปให้ทั้งผู้ประกอบการรายอื่นๆ และผู้บริโภคหันมาให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากขึ้น เพราะนอกจากจะลดความเสี่ยงในการหลวงลวงผู้บริโภคด้วยบรรจุภัณฑ์ภายนอกแล้ว ยังถือเป็นการช่วยเรื่องสิ่งแวดล้อมด้วย เพราะการใช้บรรจุภัณฑ์ที่เกินความเป็นจริง จะทำให้เกิดการสูญเสียวัสดุที่นำมาใช้ แต่สคบ.ก็จะเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุด 

นางสุพัตรา เป้าเปี่ยมทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัทยูนิลีเวอร์ ประเทศไทย กล่าวว่า ยูนิลีเวอร์พร้อมให้ความร่วมมือกับสคบ. เพราะสอดรับกับแผนการสร้างความยั่งยืนองค์กร โดยเฉพาะเรื่องการให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมที่ยูนิลีเวอร์ทั่วโลกให้ความสำคัญ โดยจากการหารือร่วมกับสคบ.พบว่า ปัญหาขนาดบรรจุภัณฑ์ที่มีขนาดใหญ่เกินจริง มีการร้องเรียนต่อเนื่อง และจากการศึกษายังพบอีกว่า ขนาดบรรจุภัณฑ์ของสินค้าหลายประเภทในประเทศไทย มีขนาดใหญ่กว่าปริมาณจริงที่บรรจุประมาณ 20-40% ซึ่งพบได้ในทุกผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในสินค้าพื้นฐานในชีวิตประจำวัน

นอกจากนี้ สถานการณ์ดังกล่าวปรากฎขึ้นโดยทั่วไปในประเทศกำลังพัฒนาโดยเฉพาะในประเทศกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยผู้บริโภยังไม่ตระหนักถึงประโยชน์ของการอ่านฉลากผลิตภัณฑ์ประกอบในการเลือกซื้อสินค้า ทำให้ผู้ประกอบการสามารถใช้ช่องทางดังกล่าวผลิตบรรจุภัณฑ์ที่มัสัดส่วนพื้นที่ว่างมากเกินจำเป็น ซึ่งสามารถสร้างความเข้าใจผิดแก่ผู้บริโภคในการตัดสินใจเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ได้

ขณะที่ในประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น เกาหลี ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และแคนาดา ประเทศเหล่านี้มีกฎหมายหรือข้อบังคับควบคุมบรรจุภัณฑ์แต่ละชนิด ซึ่งกฎหมายหรือข้อบังคับดังกล่าวนอกจากจะมีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคแล้ว ยังมีวัตถุประสงค์เพื่อลดปัญหาสิ่งแวดล้อมโดยลดปริมาณขยะบรรจุภัณฑ์อีกด้วย