posttoday

เจ.ไอ.บี.ฯหันบุกออนไลน์หนีค่าเช่าห้างพุ่ง

27 กรกฎาคม 2558

ธุรกิจค้าปลีกไอทีปรับตัวรุกใช้ช่องทางออนไลน์ในการขาย แทนการขยายสาขาที่ใช้เงินลงทุนสูง

ธุรกิจค้าปลีกไอทีปรับตัวรุกใช้ช่องทางออนไลน์ในการขาย แทนการขยายสาขาที่ใช้เงินลงทุนสูง

ในภาวะ เศรษฐกิจชะลอตัว การขยายสาขาใหม่ของธุรกิจค้าปลีกไอทีอย่าง เจ.ไอ.บี. คอมพิวเตอร์ กรุ๊ป จึงต้องปรับตัวให้ทันสมัยและบุกออนไลน์มากขึ้น หลังพัฒนาช่องทางการขายผ่านเว็บมา 1 ปี สร้างรายได้กว่า 30 ล้านบาท/เดือน และตั้งเป้าในปีนี้ 6,500 ล้านบาท และใช้งบ 20 ล้านบาท ปรับโฉมแบรนด์ใหม่ให้ทันสมัยมากขึ้น

สมยศ เชาวลิต กรรมการผู้จัดการ บริษัท เจ.ไอ.บี. คอมพิวเตอร์ กรุ๊ป กล่าวว่า สินค้าไอทีประเภทเครื่องประกอบ (DIY) ยังเป็นที่ต้องการในตลาดอย่างมาก และมั่นใจว่าเป็นรายใหญ่เพียงรายเดียวในตลาดที่มีการซื้อขายอย่างน้อยเดือน ละ 1 หมื่นเครื่อง

“ในปีที่ผ่านมา บริษัทติดลบ 14% ทำให้มียอดรวมอยู่ที่ 5,590 ล้านบาท ถือว่าเป็นช่วงที่ตลาดไอทีตกต่ำอย่างต่อเนื่อง โดยปี 2555 ทำได้ 6,100 ล้านบาท จากนั้นในปี 2556-2557 ก็ตกลงมาเรื่อยๆ อยู่ที่ 5,900 ล้านบาท ซึ่งปีนี้มองว่าตลาดเริ่มพลิกกลับมาดีขึ้น จากกลุ่มเกมเมอร์และช่องทางออนไลน์ในปีที่ผ่านมา ทำรายได้เฉลี่ยเดือนละ 30 ล้านบาท ปีนี้จึงตั้งเป้าไว้ที่ 6,500 ล้านบาท และได้ปรับโฉมใหม่ให้ทันสมัยขึ้นโดยใช้งบ 20 ล้านบาท”

ทั้งนี้ สมยศ มองว่า พีซีหรือโน้ตบุ๊กที่มีอยู่ในตลาดถึงแม้สเปกของเครื่องที่มาจากโรงงานจะสูง ขึ้นตามความต้องการของตลาด แต่ก็ยังไม่สามารถตอบโจทย์การทำงานได้ดีพอ ทำให้อุปกรณ์สำหรับการประกอบเครื่องเองยังมีการเติบโตที่ดีกว่า

“ยังมีลูกค้าในกลุ่มต่างๆ ที่ต้องการคุณภาพในการทำงานของเครื่องที่ดีกว่ารุ่นทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นงานออกแบบและตัดต่อ ซึ่งเครื่องต้องเร็วและไม่เกิดปัญหาระหว่างทำงาน รวมทั้งลูกค้ากลุ่มเกมที่ต้องการแอกเซสซอรี่ต่างๆ ที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ซึ่งเป็นกลุ่มสินค้าที่มีราคาค่อนข้างสูง เฉลี่ยอยู่ที่ 5,000-9,000 บาท ทำให้รายได้จากกลุ่มนี้อยู่ที่ 500 ล้านบาท/ปี คิดเป็น 30% ของรายได้รวมทั้งหมด”

อย่างไรก็ตาม ปีนี้ก็ยอมรับว่ายังไม่อยากเปิดสาขามากนัก เพราะค่าเช่าพื้นที่และการหาสถานที่ที่เหมาะสมต้องใช้เงินลงทุนสูง ซึ่งครึ่งปีหลังนี้จะเพิ่มอีก 4 สาขา รวมเป็น 134 สาขา และในปีหน้าอีก 10 สาขา ครอบคลุม 45 จังหวัดทั่วประเทศ รวมถึงการเพิ่มช่องทางออนไลน์เข้ามาเสริมตลาดให้ลูกค้าสั่งซื้อได้สะดวกขึ้น โดยสัดส่วนลูกค้าภาพรวมใน กทม.และปริมณฑลอยู่ที่ 53% และตลาดต่างจังหวัด 47%

“สาเหตุที่เพิ่มช่องทางซื้อขาย ออนไลน์ขึ้นมา เพราะห้างเพิ่มค่าเช่าหน้าร้านสูงขึ้นทำให้ต้นทุนค่าเช่าพื้นที่จากเดิม เฉลี่ยเดือนละ 1 แสนบาท มาเป็น 2-3 แสนบาท ขณะที่กลุ่มสินค้าไอทีจะมีการประกาศราคาขายจากทางผู้ผลิตมาแล้ว ทำให้ไม่สามารถขายในราคาสูงเกินกว่าต้นทุน หากมองไปอีก 3-5 ปีข้างหน้าถ้าราคาเช่าพื้นที่เพิ่มขึ้นอีก ก็ยากที่จะแบกต้นทุนเพิ่ม จึงลงทุนพัฒนาช่องทางออนไลน์ขึ้นมาเพื่อเพิ่มยอดขายอีกทางหนึ่ง”สมยศ กล่าว

สำหรับสิ้นปีนี้ตั้งเป้าช่อง ทางออนไลน์จะสร้างรายได้เพิ่มขึ้น จาก 30 ล้านบาท เป็น 100 ล้านบาท/เดือน เพราะการให้บริการแก่ลูกค้าตรงสร้างความเชื่อมั่นได้ดีกว่าในการซื้อจาก เว็บไซต์ออนไลน์ทั่วไป และยังตอบโจทย์ลูกค้าทุกกลุ่ม รวมทั้งเจาะตลาดลูกค้าองค์กรเพิ่ม หลังจากที่ไม่เคยทำตลาดในกลุ่มนี้มาก่อน โดยจะเพิ่มทีมงานขึ้นมาสำหรับกลุ่มลูกค้าใหม่นี้โดยเฉพาะ

กลุ่มธุรกิจองค์กรจะเจาะตลาดทุกกลุ่มและทุกขนาด ทั้งองค์กรภาครัฐและเอกชน ที่ต้องการเปลี่ยนเครื่อง เดินระบบไอทีใน องค์กรและให้คำปรึกษา โดยไม่จำกัดจำนวนสินค้าสั่งซื้อ ปัจจุบันมีรายได้จากหน่วยธุรกิจนี้ไม่ถึง 10 ล้านบาท/เดือน แต่เชื่อว่าหลังจากทำตลาดอย่างจริงจังจะมียอดขายเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ ยังบุกตลาดพรีเมียมในชื่อ มาย (Mine) เพื่อจับกลุ่มไลฟ์สไตล์ที่มีกำลังซื้อมากขึ้น โดยชิ้นส่วนสำหรับประกอบคอมจะมีราคาเริ่มต้นที่หลักหมื่นจนถึงแสนบาท และบางชิ้นจะไม่มีวางขายตามหน้าร้านทั่วไป และยังมีสินค้าแวร์เอเบิล โดรนและกล้องโกรโปร ที่เน้นไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่มากขึ้น ปัจจุบันยังมีเฉพาะที่เซ็นทรัล พระราม 2 แห่งเดียว แต่กำลังขยายไปเปิดเพิ่มที่เซ็นทรัล เวสต์เกตและเซ็นทรัลปิ่นเกล้า มูลค่าการตกแต่งร้านสูงถึง 7 ล้านบาท ซึ่งหน้าร้านระดับพรีเมี่ยมนี้ ตั้งแต่เปิดให้บริการเมื่อเดือน ธันวาคม ปีที่ผ่านมา ทำรายได้ไปแล้ว 13 ล้านบาทต่อเดือน และในปีนี้คาดว่าจะทำรายได้ที่ 22 ล้านบาทต่อเดือน

ทั้งนี้ สัดส่วนสินค้าขายดี อุปกรณ์ประกอบเครื่องยังเป็นรายได้ใหญ่สุดที่ 52% โน้ตบุค 25% ส่วนแฟลชไดร์ฟยังขายดีที่สุด สามารถขายได้กว่าแสนชิ้นต่อเดือนเลยทีเดียว