posttoday

พึ่งแก้มลิงชุมชนทั่วประเทศ

27 กรกฎาคม 2558

เกษตรฯ เตรียมปัดฝุ่นแหล่งน้ำขนาดเล็กทั่วประเทศ แก้ภัยแล้งระยะเร่งด่วน 1-2 ปีนี้

เกษตรฯ เตรียมปัดฝุ่นแหล่งน้ำขนาดเล็กทั่วประเทศ แก้ภัยแล้งระยะเร่งด่วน 1-2 ปีนี้

นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า การหารือร่วมกับนายรอยล จิตรดอน ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สสนก. เห็นตรงกันว่าไทยควรจะนำแหล่งน้ำขนาดเล็ก แก้มลิงที่ตื้นเขิน หรืออยู่ในการดูแลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) มาเป็นแหล่งน้ำใหม่ของทั้งประเทศ ในระยะเร่งด่วน 1-2 ปีนี้ แทนการสร้างแหล่งน้ำขนาดใหญ่ที่ไม่สามารถดำเนินการได้ในเวลาอันใกล้ ในเบื้องต้นพบว่ามีประมาณ 3,000 แห่ง

“ทั้งนี้ เห็นว่าการจัดการน้ำในอนาคตจะต้องเน้นให้ชุมชนเป็นผู้บริหารจัดการและดูแลกันเอง ร่วมถึงการเพิ่มแหล่งน้ำในไร่นา ซึ่งในเรื่องนี้ผมและอาจารย์รอยลเห็นตรงกัน”นายปีติพงศ์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีระบบน้ำขนาดเล็กเพื่อชุมชน แต่ในส่วนของอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่จะมารองรับการพัฒนาประเทศยังจำเป็นต่อไป ซึ่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีความจำเป็น เพราะหากมีแหล่งน้ำเพิ่มจะช่วยทำให้เศรษฐกิจในภูมิภาคดีขึ้น และในอนาคตความต้องการสินค้าเกษตรจะเป็นตัวกำหนดการใช้น้ำ ไม่ใช่ผู้ปลูกที่จะกำหนดการใช้น้ำ จึงต้องมีการตลาดและการวางแผนการผลิตให้สอดคล้องกับตลาดที่เพิ่มขึ้น

นายรอยล กล่าวว่า จากการสำรวจแหล่งน้ำของ สสนก.พบว่าในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีแหล่งน้ำขนาดเล็กและใหญ่จำนวนมากนับพันแห่งกระจายตัวอยู่ แต่หลายแห่งตื้นเขิน ไม่ได้ใช้งาน หลายแห่งตะกอนไหลลงไปจนเก็บน้ำไม่ได้มาก และบางจังหวัดมีแหล่งน้ำขนาดใหญ่ ครอบคลุมพื้นที่ 4 หมื่นไร่ แม้แต่ท้องถิ่นก็ไม่ทราบ ส่วนกลางไม่มีข้อมูลชุดนี้ ทั้งหมดสามารถนำกลับมาใช้ได้

ทั้งนี้ ไม่เห็นด้วยกับการทำโครงการโขง-ชี-มูล เพราะลงทุนมากแต่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้เล็กน้อยเท่านั้นเนื่องจากเป็นระบบสูบน้ำ ซึ่งจะทำให้ต้นทุนการผลิตสูงไปด้วย

“จากการลงพื้นที่ของ สสนก. พบว่าปัจจุบันแหล่งน้ำที่รัฐสร้าง รวมทั้งแหล่งน้ำธรรมชาติที่กระจัดกระจายหลายแห่งถูกทิ้งร้าง เช่น ในภาคอีสาน มีอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กจำนวนมาก แต่ใช้ไม่ได้ แต่ละปีผลผลิตทางการเกษตรภาคอีสานเสียหายปีละ 40% จากการขาดน้ำ หากทำให้มีน้ำเพิ่มได้ ผลผลิตเหล่านี้จะกลับมาและเกษตรกรจะมีรายได้เพิ่ม”นายรอยล กล่าว

ที่ผ่านมา สสนก.ได้ทำโครงการร่วมกับเกษตรกรเพื่อให้มีแหล่งน้ำของตนเอง พบว่ามีชุมชนที่ประสบความสำเร็จในการจัดการน้ำท่วมน้ำแล้งในพื้นที่ของตัวเองได้สำเร็จทั่วประเทศ 341 ชุมชน