posttoday

ทีดีอาร์ไอหนุน พรบ.คุมพีอาร์รัฐ

20 กรกฎาคม 2558

ทีดีอาร์ไอ หนุนกฎหมายคุมใช้งบพีอาร์หน่วยงานรัฐ ชี้แต่ละปีใช้กว่า 8 พันล้านบาท แนะเปิดเผยข้อมูลบริษัทได้รับงบให้สาธารณะชนรับทราบ

ทีดีอาร์ไอ หนุนกฎหมายคุมใช้งบพีอาร์หน่วยงานรัฐ ชี้แต่ละปีใช้กว่า 8 พันล้านบาท แนะเปิดเผยข้อมูลบริษัทได้รับงบให้สาธารณะชนรับทราบ

นายธิปไตร แสละวงศ์ นักวิชการสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ (ทีดีอาร์ไอ) เปิดเผยว่าทีดีอาร์ไอร่วมกับ สมาคมวิชาชีพสื่อต่างๆ องค์กรต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) เสนอให้สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ผลักดันร่าง พ.ร.บ. การโฆษณาประชาสัมพันธ์ของภาครัฐ  หรือ “ร่าง พ.ร.บ. พีอาร์รัฐ” ซึ่งสปช.ได้เริ่มมีการพิจารณาตั้งแต่เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา  โดยมีวัตถุประสงค์แก้ปัญหาการใช้งบประชาสัมพันธ์ของหน่วยงานภาครัฐที่อาจไม่ได้เป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของประเทศและประชาชน

ในทางตรงข้าม กลับเป็นการมุ่งแสวงหาผลประโยชน์ของนักการเมืองที่ต้องการหาเสียง หรือแก้ปัญหาไม่ให้มีกรณีที่หน่วยงานของรัฐจ่ายเงินเพื่อซื้อสื่ออย่างไม่จำเป็น หรืออาจมีผลประโยชน์ทับซ้อนและเกิดการใช้งบประมาณประชาสัมพันธ์อย่างไร้ประโยชน์  ซึ่งจากการสำรวจของภาคเอกชนอย่าง เอซี เนลสัน  ที่สำรวจมูลค่าตลาดโฆษณาทุกปี ซึ่งพบว่าเงินพีอาร์รัฐอยู่ในแต่ละปีมีมูลค่าสูงถึงประมาณ 8,000 ล้านบาท  และการใช้เงินพีอาร์เช่นนี้เกิดขึ้นในทุกรัฐบาล

นายธิปไตรกล่าวว่า สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.พีอาร์รัฐใช้แนวคิดเดียวกับกฎหมายพีอาร์รัฐในต่างประเทศ โดยเน้นเรื่องความคุ้มค่าและความโปร่งใสในการใช้งบประมาณในการประชาสัมพันธ์เป็นหลัก โดยมีวิธีการดังต่อไปนี้

1.กำหนดให้หน่วยงานของรัฐจะต้องทำแผนงานพีอาร์และงบประมาณที่ต้องใช้ และนำเสนอต่อ คณะกรรมการกำกับดูแลการโฆษณาประชาสัมพันธ์ภาครัฐ และสำนักงบประมาณ รวมทั้งเปิดเผยแผนงานพีอาร์และผลการใช้จ่ายงบประมาณผ่านเว็บไซต์

2. ร่างกฎหมาย ดังกล่าวบัญญัติห้ามมิให้มีข้อความ ภาพ หรือเสียงของเจ้าหน้าที่รัฐหรือข้าราชการการเมือง หรือสัญลักษณ์หรือเครื่องหมายใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับพรรคการเมือง

3.หน่วยงานที่จัดทำสื่อพีอาร์ยังต้องระบุข้อความด้วยว่าสื่อชิ้นนี้ได้ใช้ “เงินแผ่นดิน” ในการจัดทำ เพื่อให้รู้ว่ามีการนำเงินภาษีไปใช้ประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ส่วนตัว

4.ร่าง พ.ร.บ. พีอาร์รัฐกำหนดให้มีคณะกรรมการกำกับดูแลการโฆษณาของภาครัฐประกอบด้วยกรรมการ 9 คน โดยจะมีบุคคลนอกภาครัฐที่เชี่ยวชาญด้านโฆษณาประชาสัมพันธ์ ด้าน “ธรรมภิบาล” และด้านคุ้มครองผู้บริโภค 6 คน และข้าราชการ 3 คน

นายธิปไตร กล่าวว่า ตามในร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ยังมีเรื่องที่ยังไม่ชัดเจน  โดยควรมีการกำหนดให้หน่วยงานของรัฐที่ใช้งบประมาณในการประชาสัมพันธ์ต้องเปิดเผยราย ชื่อบริษัทสื่อที่ได้รับงบพีอาร์ทุกครั้งโดยลงในเว็บไซต์ จะช่วยให้ประชาชนมีข้อมูลและสามารถใช้วิจารณญาณในการประเมินความเป็นกลางใน การรายงานข่าวสารของบริษัทสื่อนั้นๆ ได้

นอกจากนี้ การให้รัฐเปิดเผยแผนการทำพีอาร์ต่อสาธารณชน จะช่วยให้บริษัทสื่อขนาดเล็ก ได้เตรียมตัวเพื่อแข่งขันในการจัดซื้อจัดจ้างได้ทัน การได้เปรียบเสียเปรียบในแง่เส้นสายหรือพรรคพวกก็จะลดน้อยลง เพราะทุกรายเข้าถึงข้อมูลเท่าๆ กัน

อย่างไรก็ตาม แม้ร่างกฎหมายฉบับนี้จะมีเนื้อหาสาระที่สำคัญในการกำกับควบคุมการใช้งบประมาณในการโฆษณาของภาครัฐที่ค่อนข้างสมบูรณ์ แต่ยังคงต้องดูว่า สำนักงบประมาณซึ่งถูกวางตัวให้เป็นผู้บังคับใช้กฎหมายนี้ จะกำลังคนและงบประมาณเพียงพอที่จะกวดขันหน่วยงานของรัฐให้ทำตามกฎหมายนี้ได้หรือไม่  เนื่องจากมีหน่วยงานที่อยู่ภายใต้กฎหมายฉบับนี้จำนวนหลายแห่ง โดยเฉพาะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีถึง 7,000 กว่าแห่ง