posttoday

ผุดโรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ใหญ่สุดในโลก

01 กรกฎาคม 2553

“เอ็นอีดี”จับมือพันธมิตรผุดโรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ใหญ่สุดระดับโลกขนาด 73 เมกะวัตต์ ลงทุน 8,000 ล้านบาท

“เอ็นอีดี”จับมือพันธมิตรผุดโรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ใหญ่สุดระดับโลกขนาด 73 เมกะวัตต์ ลงทุน 8,000 ล้านบาท

นายวรมน  ขำขนิษฐ์  กรรมการผู้จัดการ บริษัท พัฒนาพลังงานธรรมชาติ (เอ็นอีดี)  เปิดเผยถึง โครงการโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ (โซลาร์เซลล์) ขนาด 73 เมกะวัตต์ ว่า ขณะนี้ได้ลงนามสัญญาจัดซื้อและการก่อสร้างกับกลุ่มพันธมิตรแล้ว โดยมีมูลค่าลงทุน 8,000 ล้านบาท และเป็นโรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ตั้งอยู่ที่อ.โคกสำโรง จ.ลพบุรี จะก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2554

สำหรับพันธมิตรที่ได้ร่วมลงทุนครั้งนี้ประกอบไปด้วย  บริษัท ชาร์ปคอร์ปอเรชั่น จากญี่ปุ่น บริษัท อิตาเลียนไทยดีเวล็อปเม้นท์ เละบริษัท อิตัลไทยเอ็นจิเนียร์ริ่ง  ขณะเดียวกันได้รับการสนับสนุนด้านเงินลงทุนจากสถาบันการเงินชั้นนำทั้งในและจากต่างประเทศ ได้แก่ ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงเทพ    และธนาคารไทยพาณิชย์    

“การลงนามสัญญาจัดซื้อเละก่อสร้าง แสดงให้เห็นถึงความพร้อมในการดำเนินการโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ของเอ็นอีดี โดยคาดว่าจะเริ่มผลิตไฟฟ้าได้ภายในปลายปี 2554 ซึ่งโครงการนี้ถือเป็นความร่วมมือระดับนานาชาติที่เกิดขึ้นในเมืองไทย ทั้งผู้ผลิตจากประเทศญี่ปุ่น สถาบันการเงินต่างประเทศ และสถาบันการเงินภายในประเทศ นอกจากนี้ยังเป็นโครงการที่ส่งเสริมพลังงานทดแทนของไทย  สอดคล้องกับแผนพัฒนาพลังานทดแทน 15 ปี ของกระทรวงพลังงานด้วย” นายวรมนกล่าว

นายวรมนกล่าวว่าโครงการโรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ มีความคืบหน้าตามลำดับ โดยก่อนหน้านี้เอ็นอีดีได้ลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเข้าระบบกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) รองรับการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ รวมทั้งได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ซึ่งโครงการลงทุนจะใช้แผงโซล่าร์เซลล์ จำนวนมากกว่า 5 แสนแผง และเชื่อมต่อโครงการเข้ากับสถานีไฟฟ้าของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค

อย่างไรก็ตามเอ็นอีดี ก่อตั้งขึ้นเมื่อปลายปี พ.ศ. 2551 ในรูปแบบของการร่วมทุนระหว่าง บริษัท ซีแอลพี ไทยแลนด์ รีนิวเอเบิลส์ ลิมิเต็ด  บริษัท ไดมอนด์ เจเนอเรติ้ง เอเซีย ลิมิเต็ด  และบริษัท ผลิตไฟฟ้า  (เอ็คโก)  โดยมีเป้าหมายให้ความสำคัญของการพัฒนาธุรกิจด้านพลังงานธรรมชาติ ควบคู่ไปกับการพัฒนาโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน มีวัตถุประสงค์ ผลิต และจำหน่ายกระแสไฟฟ้าจากโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนประเภทต่างๆ ภายใต้ระเบียบการจำหน่ายไฟฟ้าโดยผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กและเล็กมาก ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงที่ไม่ก่อให้เกิดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม