posttoday

"รถไฟไทย-จีน" ยกไทยขึ้นแท่นชุมทางอาเซียน

03 มิถุนายน 2558

ความร่วมมือด้านการรถไฟจีน-ไทย จะยกระดับความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างสองประเทศ

หมายเหตุ : บทความเรื่อง “ความร่วมมือด้านการรถไฟจีน-ไทย จะนำความสุขให้แก่ประชาชนชาวไทยทั้งหลาย” โดยองค์การรถไฟแห่งประเทศจีน

ปี 2558 เป็นปีครบรอบ 40 ปีแห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตจีน-ไทย โดยในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา สองประเทศไปมาหาสู่กันทางเศรษฐกิจและการค้า แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมและบุคลากรอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะโครงการความร่วมมือด้านการรถไฟระหว่างจีน-ไทย ที่กำลังเดินหน้าอยู่ในขณะนี้ เป็นโครงการสำคัญแห่งความร่วมมือฉันมิตรระหว่างสองประเทศ

รัฐบาลจีนให้ความสำคัญอย่างสูงต่อการพัฒนาการรถไฟ ณ สิ้นปี 2557 มีทางรถไฟเปิดให้บริการแล้วกว่า 1.12 แสนกิโลเมตร

ทั้งนี้ ภายหลังที่จีนดำเนินนโยบายปฏิรูปและเปิดประเทศ ภารกิจการรถไฟจีนได้พัฒนาอย่างรวดเร็ว จนถึงสิ้นปี 2557 มีการสร้างเครือข่ายทางรถไฟให้เชื่อมโยงภาคตะวันออกกับภาคตะวันตก ภาคเหนือกับภาคใต้ที่ครอบคลุมทั่วประเทศ ทั้งยังเปิดให้บริการทางรถไฟขนส่งถ่านหิน และทางรถไฟความเร็วทั่วไปเพื่อสนองตอบความต้องการขนส่งที่แตกต่างกัน

เช่น ทางรถไฟชิงไห่-ทิเบต ซึ่งเป็นทางรถไฟบนที่ราบสูงที่สูงเหนือระดับน้ำทะเลมากที่สุดและยาวที่สุดของโลก ทางรถไฟต้าถง-ฉินหวงเต่า ซึ่งเป็นทางรถไฟรองรับการขนส่งหนักพิเศษที่บรรทุกสินค้าได้หนักถึง 2 หมื่นตัน/ขบวน ทางรถไฟสายนี้จึงมียอดการขนส่งสินค้าเกิน 450 ล้านตัน/ปี ทางรถไฟเป่าโถว-หลานโจว และหลินเหอ-ชื่อเค่อ ซึ่งเป็นเส้นทางทะลุผ่านทะเลทรายผืนใหญ่ ทางรถไฟเฉิงตู-คุนหมิง หนานหนิง-คุนหมิง และฉงชิ่ง-หวัยฮั่ว ซึ่งเชื่อมเขตเขาที่มีภูเขาสูงชันอันตราย เป็นต้น

ตั้งแต่ปี 2540 จนถึงปี 2550 จีนได้ปรับปรุงและยกระดับทางรถไฟความเร็วทั่วไปที่ใช้งานอยู่แล้วอย่างขนานใหญ่ เพื่อเพิ่มความเร็วและความสามารถในการขนส่งสินค้าทางรถไฟขนานใหญ่ จนกระทั่งสิ้นปี 2557 ทางรถไฟของจีน 5 หมื่นกิโลเมตร สามารถรองรับความเร็วได้ 120 กิโลเมตร/ชั่วโมงหรือมากกว่านั้น ในจำนวนนี้ระยะทางเกือบ 3 หมื่นกิโลเมตรเป็นทางรถไฟที่สามารถรองรับความเร็ว 160 กิโลเมตร/ชั่วโมง จีนยังมีรถไฟทางคู่ 5.7 หมื่นกิโลเมตร หรือ 50.8% ของระบบรางทั้งประเทศ และทางรถไฟพลังไฟฟ้า 6.5 หมื่นกิโลเมตร หรือ 58.3% ของระบบรางทั้งประเทศ

อย่างไรก็ดี ตั้งแต่ทศวรรษ 1990 จีนเริ่มศึกษาวิจัยเทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูง และในปี 2540 รัฐบาลจีนกำหนด “แผนพัฒนาเครือข่ายทางรถไฟระยะกลางและระยะยาว” เดินหน้าพัฒนารถไฟความเร็วสูงอย่างขนานใหญ่ จนถึงสิ้นปี 2557 มีทางรถไฟความเร็วสูงที่เปิดใช้แล้วมีมากกว่า 1.6 หมื่นกิโลเมตร และคาดว่าเมื่อถึงสิ้นปี 2558 จะมีทางรถไฟความเร็วสูงกว่า 1.9 หมื่นล้านกิโลเมตร ส่งผลให้เครือข่ายรถไฟความเร็วสูงและทางรถไฟทั่วไปครอบคลุมทุกเมืองที่มีประชากรกว่า 5 แสนคนทั่วประเทศ

การรถไฟจีนยังวิจัยและผลิตรถไฟทุกรุ่นทุกชนิดขึ้นมาเอง รวมถึงรถไฟขนส่งผู้โดยสาร หัวรถจักร และรถไฟขนส่งสินค้า โดยในปี 2557 จีนมีหัวรถจักร 2 หมื่นคัน รถไฟขนส่งผู้โดยสาร 5 หมื่นขบวน รถไฟ EMUs กว่า 1,800 ขบวน และรถไฟขนส่งสินค้า 8 แสนคัน ซึ่งสามารถตอบสนองความเร็วในการขนส่งที่ไม่เท่ากัน รางรถไฟที่ไม่เหมือนกัน และเงื่อนไขการขนส่งที่แตกต่างกัน

การรถไฟจีนได้จัดตั้งระบบบัญชาการเลือกจ่ายงาน (TDCS) เพื่อควบคุมการเดินรถไฟทั่วประเทศ โดยรถไฟขนส่งผู้โดยสารและรถไฟขนส่งสินค้าทุกขบวนต่างติดตั้งอุปกรณ์ตรวจสอบการเดินรถ (LKJ) เพื่อควบคุมการทำงานเป็นแบบแผนเดียวกัน อีกทั้งยังมีระบบเทคโนโลยีป้องกันความเสี่ยงด้านความปลอดภัย ระบบควบคุมการเดินรถบนทางรถไฟความเร็วสูง (CTCS) มีระบบตรวจสอบและบำรุงรักษาขบวนรถไฟ ทางรถไฟ สะพาน สายเคเบิลจ่ายไฟฟ้าเหนือรางรถไฟ และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องทำได้ทุกเวลา

การรถไฟจีนยังวิจัยและผลิตระบบ SAM หรือระบบการทำงานอัตโนมัติของย่านสับเปลี่ยน (Marshalling Yard) 40 แห่งทั่งประเทศ ที่สามารถรับคำสั่งถอดแยกตู้ขบวนรถ เรียงลำดับเข้าสู่ราง และใช้เรดาร์ตรวจวัดความเร็วและความยาวของรถไฟได้โดยอัตโนมัติ โดยสามารถให้บริการรถไฟได้มากถึง 2.5 หมื่นขบวน

ดังนั้น ความร่วมมือด้านการรถไฟจีน-ไทย จะยกระดับความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างสองประเทศ ขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจของภูมิภาค เพราะประเทศไทยถือเป็นคู่ค้าหลักของจีนในอาเซียน ในขณะที่จีนเป็นตลาดการส่งออกสินค้าใหญ่เป็นอันดับแรกของไทย และมีนักท่องเที่ยวจากจีนไปเมืองไทยมากที่สุด

โดยเฉพาะหลังจากทางรถไฟหนองคาย-มาบตาพุด ในโครงการร่วมมือด้านการรถไฟจีน-ไทย สร้างแล้วเสร็จ จะเชื่อมต่อกับทางรถไฟจีน-ลาว ที่มีกำหนดจะสร้างขึ้นในอนาคต และสินค้าของสองประเทศจะแลกเปลี่ยนหมุนเวียนกันผ่านทางรถไฟได้โดยสะดวก โดยมีต้นทุนการขนส่งต่ำลงมาก

ที่สำคัญความร่วมมือในโครงการรถไฟระหว่างจีนกับไทย จะยกระดับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของไทยอย่างมีพลัง เสริมสร้างบทบาทสำคัญของไทยที่เป็นชุมทางของอาเซียน กระตุ้นการไปมาหาสู่กันทางการค้าและการแลกเปลี่ยนทางบุคลากรระหว่างประเทศอาเซียน และระหว่างอาเซียนกับจีน ผลักดันการพัฒนาเมืองใหม่ๆ และสร้างแรงขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจแก่ประเทศไทยในอนาคต

รายงานวิเคราะห์ธนาคารโลกชี้ว่า ต้นทุนการสร้างทางรถไฟความเร็วสูงของจีน คิดเป็น 2 ใน 3 ของต้นทุนการสร้างรถไฟความเร็วสูงของประเทศอื่น และภายใต้ความร่วมมือรถไฟจีนและไทย จีนจะให้การสนับสนุนทางเทคโนโลยี การบริหารจัดการ และการระดมทุนเพื่อพัฒนาการรถไฟของไทย และด้วยความได้เปรียบทั้งในด้านความปลอดภัยที่วางใจได้ เทคโนโลยีที่ทันสมัย และสมรรถนะสูงแต่ต้นทุนต่ำ เมื่อรวมกับต้นทุนการสร้างทางรถไฟ การบริหารจัดการ การบำรุงรักษา และอัตราดอกเบี้ยในการระดมทุนแล้ว ศักยภาพการแข่งขันของรถไฟจีนแจ่มชัดมากเมื่อเทียบกับของประเทศอื่น

การรถไฟจีนจะยืนหยัดหลักการดำเนินความร่วมมือเพื่อได้ผลประโยชน์ร่วมกัน แบ่งปันผลสำเร็จด้านการพัฒนาการรถไฟกับไทย และสร้างความผาสุกให้แก่ประชาชนสองประเทศ

ผลักดันเส้นทางสายไหม

เมื่อวันที่ 2 มิ.ย.ที่ผ่านมา ซุนเจียเจิ้ง กรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์ สาธารณรัฐประชาชนจีน และประธานมูลนิธิเพื่อสันติภาพและการพัฒนาแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในสังกัดกระทรวงวิเทศสัมพันธ์ เปิดเผยในระหว่างงานเลี้ยงต้อนรับ เนื่องในโอกาสเยือนไทยระหว่างวันที่ 1-3 มิ.ย. ที่สมาคมวัฒนธรรมและเศรษฐกิจไทย-จีน โดยระบุว่าจีนจะหารือกับประเทศต่างๆ ในการผลักดันนโยบาย “เส้นทางสายไหม” ของ สีจิ้นผิง ประธานาธิบดีของสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อเชื่อมโยงมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิก

“ไทยถือเป็นประเทศที่อยู่ในตำแหน่งที่สำคัญของภูมิภาค และเป็นเหมือนครอบครัวเดียวกับจีน จึงน่าจะต้องมีการคุยกัน เพื่อผลักดันโครงการ “One Belt One Road” ซึ่งจะเชื่อมโยงมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิก ภายใต้นโยบายสายไหมของประธานาธิบดี สีจิ้นผิง ขณะเดียวกันจีนจะหารือกับประเทศต่างๆ เพื่อเชื่อมโยงเส้นทาง ซึ่งนโยบายนี้เทียบได้กับนโยบาย ‘หันกลับมาสู่เอเชียของสหรัฐ’ ที่ดำเนินการมาได้ระยะหนึ่งแล้ว โดยจีนถือว่าเป็นโครงการที่สำคัญของศตวรรษที่ 21” กรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์ กล่าว

ซุน ย้ำว่า นโยบายเส้นทางสายไหมมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างประโยชน์ชาวจีนและชาวโลก และสิ่งที่จะชี้วัดความสำเร็จ คือ เศรษฐกิจของประชาชนทุกประเทศที่ดีขึ้น

ซุน เสนอว่า ไทยและจีนควรตั้งนักวิชาการมาศึกษาการเชื่อมโยงทั้งสองประเทศตามแนวเหนือ-ใต้ ว่าจะเชื่อมโยงการเดินทางด้วยรถยนต์หรือรถไฟจึงจะเหมาะสม ขณะที่การเจรจาเรื่องใดๆ ก็ตามระหว่างทั้งสองประเทศ ไม่ควรมีประเทศที่ 3 เข้ามาร่วม และที่ผ่านมาได้พบและหารือกับ พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งได้บอกไปว่าหากมีการพูดคุยกันระหว่างอาเซียน-จีน และไทย-จีน เป็นไปด้วยดี สันติภาพก็จะเกิดขึ้นได้ในภูมิภาคนี้

บรรยายภาพ : ซุนเจียเจิ้ง กรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้แทนสมาคมวัฒนธรรมและเศรษฐกิจไทยจีนเกี่ยวกับนโยบาย "เส้นทางสายไหม" เมื่อ 2 มิ.ย.