posttoday

เร่งรัฐชี้ขาดสัมปทานปิโตรเลียม

14 พฤษภาคม 2558

กลุ่มปฏิรูปพลังงานฯ จี้รัฐสรุปแนวทาง 2 แหล่งสัมปทานในปีนี้ ล่าช้าสูญ 7.15 แสนล้าน

กลุ่มปฏิรูปพลังงานฯ จี้รัฐสรุปแนวทาง 2 แหล่งสัมปทานในปีนี้ ล่าช้าสูญ 7.15 แสนล้าน

นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ แกนนำกลุ่มปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืน (ERS) เปิดเผยในโอกาสครบรอบ 1 ปี กลุ่มปฏิรูปพลังงาน ว่า ขณะนี้สิ่งที่น่าเป็นห่วงที่สุดสำหรับพลังงานไทย คือ การพัฒนาแหล่งผลิตปิโตรเลียมในประเทศ โดยเฉพาะการหาแนวทางบริหารจัดการแหล่งผลิตใหญ่ที่สัญญาสัมปทานกำลังจะหมดอายุในปี 2565 และไม่สามารถต่อได้อีกตามกฎหมาย

ทั้งนี้ รัฐบาลจะต้องหาข้อสรุปในเรื่องดังกล่าวให้ได้ภายในปีนี้ เพื่อที่จะกำหนดการลงนามสัญญากับภาคเอกชน ให้มีการผลิตปิโตรเลียมอย่างต่อเนื่องในปี 2559 เพราะหากไม่หาข้อสรุปล่วงหน้า ภาครัฐจะสูญเสียทั้งรายได้ ค่าใช้จ่ายก๊าซ และผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าคิดเป็นเงินสูงถึง 7.15 แสนล้านบาท เนื่องจากกำลังการผลิตก๊าซจะหายไปจากระบบ 2.3 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต (ลบ.ฟุต) จากการที่ผู้ผลิตจะลดการลงทุน เพราะความไม่แน่นอน ทำให้ประเทศต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) มาทดแทน

ปัจจุบันแหล่งสัมปทานใหญ่ ได้แก่ แหล่งบงกชของบริษัท ปตท.สผ. และแหล่งเอราวัณ ของ บริษัท เชฟรอน มีอัตราการผลิตก๊าซคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 50% ของปริมาณการใช้ของประเทศ กรณีที่ไม่ลงทุนในช่วง 5 ปีก่อนหมด อายุ รัฐจะมีรายได้หายไปจากค่าภาคหลวงและภาษีเงินได้ปิโตรเลียมกว่า 3.5 แสนล้านบาท ค่าใช้จ่ายสูงขึ้นจากการนำเข้าแอลเอ็นจี และวัตถุดิบปิโตรเคมี 3.5 แสนล้านบาท และค่าครองชีพสูงขึ้นจากค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ (เอฟที) ภาคครัวเรือน และภาคอุตสาหกรรม 90 สตางค์/หน่วย บนสมมติฐานราคาน้ำมัน 77  เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ใน 10 ปี ข้างหน้า

นายบรรยง พงษ์พานิช สมาชิกกลุ่มปฏิรูปพลังงานฯ กล่าวว่า แหล่งสัมปทานที่จะหมดอายุ ควรให้ผู้รับสัมปทานรายเดิมทำต่อ เพราะจะมีความต่อเนื่อง แต่รัฐจะต้องเจรจาในเงื่อนไขรายได้ผลตอบแทนที่ต้องมากกว่าเดิมและต้องโปร่งใส ขณะที่การเปิดสัมปทานรอบใหม่  ไม่เห็นด้วยหากจะใช้ระบบแบ่งปัน ผลผลิต (พีเอสซี) โดยตั้งบริษัทน้ำมันแห่งชาติขึ้นมา เพราะมีกระบวนการที่ใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 10 ปี ไม่คุ้มเมื่อเทียบกับปิโตรเลียมที่มีอยู่