posttoday

"ดิจิทัลซาลอน" ปฏิวัติการทำผมด้วยไอที

23 เมษายน 2558

ซาลอนต่างๆ ควรจะยกระดับของร้านด้วยการนำไอทีเข้ามาใช้งาน โดยเริ่มต้นจากการนำโปรแกรมพื้นฐานเข้ามาช่วยบริหาร

โดย...ณัฏฐ์ธยาน์ สุทธิเจริญ

อัตราการใช้งานอินเทอร์ เน็ตที่เพิ่มขึ้นกว่า 70% ของคนไทย อีกทั้งปัจจัยด้านราคาของอุปกรณ์ที่ถูกลง และเทคโนโลยีใหม่ๆ ก็สามารถรองรับการทำงานเชิงธุรกิจได้ดีกว่าเดิม โดยเรามักจะเห็นแอพพลิเคชั่นที่เกี่ยวกับการจัดแต่งทรงผมเป็นเพียงแค่เกมฆ่าเวลา แต่การจับมือของเจ้าใหญ่ 2 รายอย่าง ชวาร์สคอฟ และชลาชล จะช่วยให้แอพพลิเคชั่นที่ไร้สาระนั้น พัฒนาเป็นเชิงธุรกิจได้เป็นอย่างดี

ธีรศักดิ์ ไตรทิพย์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เฮงเค็ล (ประเทศไทย) ผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชวาร์สคอฟ กล่าวว่า ผู้บริโภคในปัจจุบันสามารถใช้งานมือถือและอุปกรณ์ไอทีต่างๆ ได้ง่ายขึ้น และความชำนาญด้านเทคโนโลยีก็มีมากขึ้น ดังนั้นจึงมองว่าการพัฒนาธุรกิจซาลอนให้ตอบโจทย์การทำงานมากขึ้นน่าจะเป็นสิ่งที่ดี

“การให้บริการแอพพลิเคชั่นของชวาร์สคอฟนั้น มีการทำงานมาระยะหนึ่งแล้ว โดยในไทยทำมาตั้งแต่ปี 2556 เพราะการแข่งขันในธุรกิจซาลอนมีมานานแล้ว การนำเทคโนโลยีมาใช้ถือว่าเป็นการช่วยพัฒนาธุรกิจของพันธมิตรและตอบสนองความต้องการใช้งานของทั้งช่างทำผมและลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการ” ธีรศักดิ์ กล่าว

โดยแอพพลิเคชั่นที่ให้บริการแล้วมี 3 แอพพลิเคชั่น คือ “เฮาส์ ออฟ คัลเลอร์” ที่ใช้สำหรับเก็บข้อมูลของลูกค้า เน้นการวิเคราะห์การทำสีผม และอัพเดทเทรนด์ใหม่ๆ เปิดให้ใช้งานในไทยมาประมาณ 2 ปี “แฮร์ เอ็กซ์เปิร์ท” สำหรับการดูแลบำรุงเส้นผมให้กับลูกค้า และ “โมเดิร์น สไตล์ คอลเลกชั่น” สำหรับการดูแลภาพลักษณ์ให้กับลูกค้า ซึ่งทั้งหมดนี้จะเน้นด้านสนับสนุนการทำงานให้กับช่างทำผมมากกว่าเจาะกลุ่มลูกค้าทั่วไป

นอกจากนี้ บริษัทยังอยู่ในช่วงพัฒนาแอพพลิเคชั่นใหม่เพื่อเจาะกลุ่มลูกค้า คือ “ซาลอน ไฟเดอร์ 2.0” เพื่อตอบสนองลูกค้าที่เข้ามาทำผม สามารถค้นหาร้านทำผมที่ตั้งอยู่ใกล้บ้าน เช็กราคา และรูปแบบการให้บริการต่างๆ ของแต่ละร้าน คาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์ภายในปีนี้

ขณะที่ กิตติณัฏฐ ชลาชล ผู้ช่วยผู้จัดการทั่วไป ชลาชล สตูดิโอ กล่าวว่า ทางชลาชลเอง มีระบบบริหารจัดการบัญชีและแอพพลิเคชั่นสำหรับการทำงานภายในสาขาอยู่แล้ว แต่จะนำดิจิทัลซาลอนเข้ามายกระดับความทันสมัยของธุรกิจให้มากขึ้น

“เทรนด์ไอทีเริ่มเข้ามามีบทบาทกับธุรกิจซาลอนมาระยะหนึ่งแล้ว เมื่อชวาร์สคอฟซึ่งเป็นพันธมิตรเข้ามาพูดคุย และทางชลาชลก็มีแนวคิดที่จะนำดิจิทัลมาใช้งาน จึงเกิดแนวความคิดว่าจะพัฒนาร้านในคอนเซ็ปต์ดิจิทัลซาลอน 2 แห่ง คือ ที่เซ็นทรัลพลาซา เวสต์เกตและเซ็นทรัลเฟสติวัล อีสต์วิลล์ แต่ที่เซ็นทรัลเฟสติวัล อีสต์วิลล์ ถือว่าเป็นแฟล็กชิปด้านดิจิทัล ซึ่งจะเปิดตัวต้นปี 2559 ถือว่าเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการให้บริการแก่ลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการ แต่ราคาก็ยังอยู่ในระดับเดิม ไม่ได้คิดเพิ่มแต่อย่างใด” กิตติณัฏฐ กล่าว

นอกจากนี้ กิตติณัฏฐ ยังมองว่าซาลอนต่างๆ ควรจะยกระดับของร้านด้วยการนำไอทีเข้ามาใช้งาน โดยเริ่มต้นจากการนำโปรแกรมพื้นฐานเข้ามาช่วยบริหารจัดการภายในร้านก่อน เพื่อให้เกิดความคุ้นเคยในการใช้งานเทคโนโลยี ก่อนจะขยายระบบไอทีให้ตอบสนองการให้บริการแก่ลูกค้ามากยิ่งขึ้น ทั้งนี้โปรแกรมใช้งานที่ง่ายที่สุด คือ เก็บประวัติข้อมูลส่วนตัวของลูกค้า ลักษณะความชอบทรง สีผม และทรงผมที่เข้ากับใบหน้าของลูกค้าแต่ละราย ข้อมูลเหล่านี้ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ เพราะแสดงให้เห็นถึงความใส่ใจในลูกค้า กระตุ้นให้อยากกลับมาใช้บริการที่ร้านซ้ำ