posttoday

ธารารมณ์ เชื่อคอนโด 1-3 ล้านยังไม่โอเวอร์ซัพพลายส์

24 มิถุนายน 2553

ธารารมณ์ เชื่อคอนโด 1-3 ล้าน ยังไม่โอเวอร์ซัพพลายส์  ลุยพัฒนาต่อเน้นรูปแบบโลว์ไรส์  

ธารารมณ์ เชื่อคอนโด 1-3 ล้าน ยังไม่โอเวอร์ซัพพลายส์  ลุยพัฒนาต่อเน้นรูปแบบโลว์ไรส์  

นายวสันต์ เคียงศิริ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ธารารมณ์ เอ็นเตอร์ไพรส์ เปิดเผยว่า ภาพรวมของตลาดอสังหาฯเริ่มกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง หลังจากบรรยากาศซบเซาไปในไตรมาส 2  ซึ่งจากการสำรวจของศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์พบว่าในปี 2552  มีการซื้อคอนโดฯ มากเป็นอันดับ 1  ถึง 49% หรือ 42,425 ยูนิต และเป็นการซื้อยูนิต ขนาด 1-3 ล้านบาท ถึง 46%  โดยพื้นที่ที่มีความต้องการมากที่สุดคือ ลาดพร้าว-รัชดาฯ  พหลโยธิน  รองลงมา เป็นโซนสุขุมวิทตอนปลาย

ล่าสุดบริษัทได้เปิดขายโครงการเดอะลิงก์  สุขุมวิท 64   มูลค่าโครงการ 320 ล้านบาท  จำนวน 122 ยูนิต ปัจจุบันมียอดขายแล้ว 40 ยูนิต และคาดว่าจะปิดการขายได้ 80% ในสิ้นปีนี้  และจะปิดการขายได้ 100% ในช่วงปิดการขายในกลางปีหน้าเมื่อโครงการแล้วเสร็จ   จากก่อนหน้านี้บริษัทฯได้พัฒนาโครงการเดอะลิงก์สุขุมวิท 50  ซึ่งอยู่ระหว่างก่อสร้างโครงการเฟสที่ 5  จำนวน 120 ยูนิต มียูนิตเหลือขาย 50  ยูนิต   โดยในปีนี้บริษัทวางเปิดยอดขายรวม 1,400 ล้านบาท ปัจจุบันมียอดขายแล้ว 550  ล้านบาท   

ด้านนายชาติชาย พยุหนาวีชัย  ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย  เปิดเผยว่า หลังจากกระทรวงการคลังประกาศจะไม่ต่อมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ซึ่งจะหมดในสิ้นเดือนนี้ออกไปอีกเพราะ กระทบกับรายได้ขององค์การบริหารส่วนท้องถิ่น  (อบท.)  นั้นจะส่งผลให้ผู้ซื้อที่อยู่อาศัยเร่งโอนกรรมสิทธิ์ภายในเดือนนี้เพื่อให้ทันมาตรการและจะมีผลทำให้ยอดสินเชื่อบ้านของธนาคารเพิ่มขึ้นมากกว่า 1 เท่าตัว

สำหรับในส่วนของธนาคารกสิกรไทย คาดว่าเดือนนี้จะปล่อยสินเชื่อบ้านได้มากกว่า 7,000 ล้านบาทจากปกติที่ธนาคารมียอดการปล่อยสินเชื่อบ้านประมาณเดือนละ 4,000 ล้านบาท อีกทั้งยังทำให้ยอดการปล่อยสินเชื่อบ้านในปีนี้ทำได้ตามเป้าหรือมากกว่าเป้าเดิมที่วางไว้คือเกิน  4.5 หมื่น ล้านบาท หลังจากต้นปีจนถึงปัจจุบันปล่อยสินเชื่อได้แล้วประมาณ 3 หมื่นล้านบาท 

ทั้งนี้นับตั้งภาครัฐได้มีการประกาศขยายมาตรกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์มา 2 ครั้ง โดยขยายจากสิ้นเดือนมีนาคมมาเป็นพฤษภาคมและขยายจากพ.ค. มาเป็นเดือน มิ.ย. อีกครั้ง ส่งผลให้สินเชื่อบ้านของระบบธนาคารมีโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็น 1 เท่าตัว จาก เฉลี่ยปล่อยเดือนละ 3 หมื่นล้านบาท เป็น 6 หมื่นล้านบาท มาตั้งแต่เดือนมี.ค.     และคาดว่าจะส่งผลให้ตลาดสินเชื่อบ้านซึ่งปีก่อนหน้าปล่อยได้ประมาณ 3.3 แสนล้านบาท โตเพิ่มจากปีก่อนหน้าได้มากกว่า 10% 

ดังนั้นภาครัฐควรมีการต่อมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ออกไปอีกเพราะอสังหาริมทรัพย์ถือเป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำ ที่มีผลกับการกระตุ้นธุรกิจอื่น และยังช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายให้กับผู้ซื้อบ้านได้เป็นอย่างดี

 ส่วนแนวโน้มทิศทางดอกเบี้ยนั้นคาดว่าจะเพิ่มขึ้นในช่วง ไตรมาส 3 หรือ 4 ของปีนี้ โดยจะปรับเพิ่มราว 0.25% หลังจากที่มีสัญญาญธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ ทั้งธนาคารกรุงเทพ  และธนาคารกสิกรไทย  ออกแคมเปญเงินฝากระยะยาว  30 เดือนให้ดอกเบี้ยจูงใจถึง  4.5% ต่อปี แต่อย่างไรก็ตามในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งต่อไปในวนที่ 14 ก.ค. นี้ กนง. อาจะมีการตรึงดอกเบี้ยนโยบาย หรืออาร์พี ไว้ที่ 1.25% เพราะเศรษฐกิจยังฟื้นตัวไม่ชัดเจน การลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติยังไม่เกิด อีกทั้งสภาพคล่องในระบบยังมีอยู่สูง