posttoday

อียูแจกใบเหลืองไทยทำประมงผิดกม.จี้เร่งแก้ใน6เดือน

21 เมษายน 2558

คณะกรรมาธิการยุโรปเตือนไทยแก้ประมงผิดกฎหมายใน 6 เดือน กต.แถลงผิดหวังอียูไม่ตระหนักถึงการเร่งแก้ปัญหา

คณะกรรมาธิการยุโรปเตือนไทยแก้ประมงผิดกฎหมายใน 6 เดือน กต.แถลงผิดหวังอียูไม่ตระหนักถึงการเร่งแก้ปัญหา

เมื่อวันที่ 21 เม.ย. คณะกรรมาธิการยุโรป (อีซี) ณ กรุงบรัสเซลส์ ได้แจ้งเตือนประเทศไทยเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่คณะกรรมาธิการยุโรปจะขึ้นบัญชีไทยเป็นประเทศที่ไม่ให้ความร่วมมือ (Non-cooperating Country) ในการต่อต้านการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ไม่รายงาน และไร้การควบคุม (ไอยูยู) โดยระบุว่า ไทยมีเวลา 6 เดือน ที่จะแก้ไขปัญหาดังกล่าวร่วมกับอีซี

ทั้งนี้ การระบุดังกล่าวถือเป็นเพียงการแจ้งเตือน หรือเป็นการให้ใบเหลือง และ ยังไม่มีผลในการคว่ำบาตรสินค้าประมงจากไทยที่จะส่งออกไปยังประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป (อียู) เพียงแต่จะนำไปสู่การปรึกษาหารืออย่างจริงจังระหว่างอีซีและประเทศไทย เพื่อแก้ไขปัญหาการทำประมงที่ผิดกฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ

อย่างไรก็ดี หลังจากมีการออกใบเหลือง อีซีจะพิจารณาแผนปฏิบัติการแก้ปัญหาที่ชัดเจน และเป็นรูปธรรมของไทยภายใต้กรอบเวลาที่สมเหตุสมผล ถ้าสถานการณ์เป็นที่น่าพอใจ ไทยก็จะถูกปลดจากบัญชีประเทศที่ได้รับใบเหลือง แต่หากยังไม่เป็นที่พอใจ อีซีอาจจะพิจารณาให้ใบแดง ซึ่งจะมีผลต่อการคว่ำบาตรการนำเข้าสินค้าประมงทะเลจากไทยปีละร่วม 2.7 แสนล้านบาท

สำหรับกฎหมายว่าด้วยการต่อต้านการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ไม่รายงาน และไร้การควบคุมของอียูมี ผลบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2553 มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการประมงที่ยั่งยืน มีเจตจำนงจะสร้างเสริมความมั่นใจว่า จะไม่มีสินค้าประมงที่ผิดกฎหมายสามารถเข้าสู่ตลาดอียูได้ โดยในปี 2544 และ 2545 ไทยถูกประเมินว่ามีข้อบกพร่องด้านกฎหมาย ไร้การดูแล ควบคุม และเฝ้าระวังเรือประมงไทย มีการนำเข้าสินค้าประมงที่ผิดกฎหมายไปยังอียู

ด้าน นายเสข วรรณเมธี อธิบดีกรมสารนิเทศ และโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า การประกาศเตือนครั้งนี้ยังไม่มีผลต่อการส่งออกสินค้าประมงของไทยไป อียู แต่อย่างใด

กระทรวงการต่างประเทศขอแจ้งว่า ไทยรู้สึกผิดหวังอย่างยิ่งต่อการตัดสินใจออกประกาศเตือนดังกล่าว ซึ่งสะท้อนว่า อียู มิได้ตระหนักถึงความมุ่งมั่นและความก้าวหน้าที่เป็นรูปธรรมของไทยในการแก้ปัญหาไอยูยู รวมถึงความร่วมมือระหว่างไทยกับอียู ในการต่อต้านการประมงไอยูยูที่มีมายาวนาน ไทยเรียกร้องให้อียูพิจารณาการดำเนินการของไทยในเชิงเทคนิคตามหลักเกณฑ์และมาตรฐานที่มี ความโปร่งใสและเที่ยงตรง อย่างไม่เลือกปฎิบัติและสอดคล้องกับสถานการณ์ที่แท้จริงในไทย

โดยไทยจะสานต่อความร่วมมือกับอียู เพื่อให้ไทยออกจากกลุ่มที่ถูกประกาศเตือน รวมทั้งสามารถแก้ไขและป้องกันการทำประมงแบบไอยูยู ต่อไปในอนาคตได้อย่างยั่งยืน อย่างไรก็ตาม รัฐบาลไทยตระหนักถึงความสำคัญในการรักษาทรัพยากรทางทะเลและกำหนดให้การแก้ไขปัญหาการประมงแบบไอยูยู เป็นปัญหาสำคัญระดับชาติที่ต้องแก้ไขโดยความร่วมมือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้ กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะหน่วยงานหลักได้เป็นผู้นำในการบูรณาการกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องเพื่อเร่งดำเนินการตามแผนงานหลัก 6 แผนงานให้เกิดผลเป็นรูปธรรมอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ 1.การปรับปรุงพระราชบัญญัติการประมงและกฎหมายลำดับรอง 2. การจัดทำแผนระดับชาติในการป้องกัน ยับยั้ง และขจัดการทำประมงไอยูยู 3.การเร่งจดทะเบียนเรือประมงและออกใบอนุญาตทำการประมง 4.การพัฒนาระบบควบคุมและเฝ้าระวังการทำประมง โดยเฉพาะการควบคุมการเข้าออกท่าของเรือประมง 5.การจัดทำระบบติดตามตำแหน่งเรือ และ 6.การปรับปรุงระบบการตรวจสอบย้อนกลับ

ที่ผ่านมา รัฐบาลไทยให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งกับการแก้ไขปัญหา การรักษาทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน และการสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีในการทำประมงเป็นวาระสำคัญของรัฐบาลนี้ และรัฐบาลจะยังคงดำเนินการอย่างแข็งขันในการแก้ปัญหาภายใต้การนำของผู้นำระดับสูงต่อไป