posttoday

ETDA เตือนองค์กร หยุดใช้ซอฟต์แวร์เถื่อน

06 เมษายน 2558

หากไอทีในองค์กรไม่ระมัดระวังด้านความปลอดภัย ส่งผลให้เกิดเป็นความเสี่ยงของระบบคอมพิวเตอร์ภายในองค์กรทั้งหมด

โดย...ณัฏฐ์ธยาน์ สุทธิเจริญ

ความตระหนักถึงภัยคุกคามจากการใช้งานซอฟต์แวร์เถื่อนขององค์กรธุรกิจในประเทศไทยยังมีน้อยอยู่ กลุ่มพันธมิตรซอฟต์แวร์ (The Software Alliance : BSA) เคยเผยถึงผลสำรวจของการใช้งานซอฟต์แวร์ขององค์กรไทยปี 2557 พบว่า มีกว่า 71% ขององค์กรธุรกิจ ที่นิยมใช้งานซอฟต์แวร์เถื่อนและไม่คิดจะเสียค่าใช้จ่ายด้านนี้อย่างถูกต้อง จนต้องเสี่ยงโดนโจรกรรมข้อมูลภายในโดยไม่รู้ตัว

สุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ ETDA กล่าวว่า องค์กรธุรกิจของไทยยังใช้งานซอฟต์แวร์เถื่อน และดาวน์โหลดไฟล์ซอฟต์แวร์จากคอมพิวเตอร์ เพราะความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของฝ่ายต่างๆ หากไอทีในองค์กรไม่ระมัดระวังด้านความปลอดภัย ส่งผลให้เกิดเป็นความเสี่ยงของระบบคอมพิวเตอร์ภายในองค์กรทั้งหมด ซึ่งไทยถือว่าเป็นเป้าหมายสำคัญของการจู่โจมจากแฮ็กเกอร์เป็นอันดับ 3 ของโลก และเป็นอันดับ 1 ในอาเซียน ของการถูกเข้าจู่โจมผ่านเว็บไซต์

“เครื่องคอมพิวเตอร์อย่างน้อย 3 จาก 8 ล้านเครื่อง ที่ใช้งานในประเทศ มีมัลแวร์และบ็อตฝังตัวอยู่ และความสามารถในการแกะรอยไปหาแฮ็กเกอร์ยังเป็นไปได้ยาก เพราะปริมาณซอฟต์แวร์ที่ละเมิดลิขสิทธิ์ถูกดาวน์โหลดมาใช้งานบนเครื่องพีซีในประเทศไทยถึง 71% หากเรายังคงใช้งานซอฟต์แวร์เถื่อนต่อไป จะยิ่งทำให้ธุรกิจสูญเสียรายได้อย่างมาก” สุรางคณา กล่าว

ปัญหาอาชญากรรมบนโลกไซเบอร์ กลายมาเป็นปัญหาหลักของการใช้งานอินเทอร์เน็ตในทุกประเทศ ซึ่งผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตในประเทศไทย มักจะโดนเรื่องการหลอกโอนเงิน ขโมยข้อมูลบัตรเครดิต และยูสเซอร์เนม พาสเวิร์ด ดังนั้นเพื่อเป็นการแก้ปัญหาจากการโดนขโมยข้อมูลให้เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น

โรแลนด์ ชาน ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่าย Compliance Programs ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก บีเอสเอ พันธมิตรซอฟต์แวร์ กล่าวว่า จากการสำรวจพบว่า ระบบคอมพิวเตอร์ขององค์กรธุรกิจในประเทศไทย จาก 3 ล้านเครื่อง ใน 8 ล้านเครื่องมีปัญหาเกี่ยวกับไดรฟ์-บาย ดาวน์โหลด ติดตั้งแอพพลิเคชั่นปลอม สปายแวร์ มัลแวร์ และโทรจัน

“การใช้ซอฟต์แวร์ที่ละเมิดลิขสิทธิ์ เป็นปัญหาให้เกิดมัลแวร์ ถ้าธนาคารหรือเจ้าของธุรกิจที่ทำเกี่ยวกับอีคอมเมิร์ซ ซึ่งมีอัตราเพิ่มขึ้น ไม่สามารถป้องกันปัญหาข้อมูลรั่วไหลและการโจรกรรมข้อมูลได้ ยิ่งส่งผลให้การเข้าใช้งานยังคงมีความเสี่ยง ซึ่งในจำนวนธุรกิจทั้งหมด มีเพียงธุรกิจธนาคารและโทรคมนาคมที่ตระหนักถึงปัญหาเหล่านี้” โรแลนด์ ชาน กล่าว

การเลิกใช้งานซอฟต์แวร์เถื่อนควรจะทำและแก้ไขปัญหาในทันที หากองค์กรไม่ปรับตัวให้ทันรับยุคดิจิทัลอีโคโนมี จะกลายเป็นปัญหาลุกลามที่แก้ไขได้ยาก และส่งผลให้ธุรกิจสูญเสียรายได้อย่างมหาศาลแน่นอน