posttoday

แนะเปลี่ยนกรรมการ กสท.ดูแลสื่อ

24 มีนาคม 2558

นักวิชาการ ชี้เกณฑ์ครอบสื่อไม่ชัดเจน ส่อแววธุรกิจสื่อจะถูกเทกโอเวอร์มหาศาล

นักวิชาการ ชี้เกณฑ์ครอบสื่อไม่ชัดเจน ส่อแววธุรกิจสื่อจะถูกเทกโอเวอร์มหาศาล 

นางพิจิตรา สึคาโมโต้ อาจารย์ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในงานเสวนาเวทีสาธารณะ เกาะติดทิศทางการปฏิรูปสื่อ ครั้งที่ 2 ในเรื่อง “สิทธิของประชาชนอยู่ที่ไหน ในยุคสื่อควบรวมและเหมาโหล” ว่า ในขณะนี้การดูแลการควบรวมกิจการสื่อ และครอบงำสื่อที่ไม่มีความชัดเจน อาจส่งผลให้เกิดการควบรวมสื่อมากขึ้น เพราะการดูแลครอบงำสื่ออาจใช้เรื่องหุ้นอย่างเดียวไม่ได้ ต้องดูถึงเนื้อหาว่ามีการครอบงำหรือไม่ด้วย

ขณะเดียวกันการครอบงำและควบรวมสื่อ ก็เกิดขึ้นในธุรกิจเคเบิ้ล ทีวี และทีวี ดาวเทียมแล้ว ซึ่งก็ยังไม่มีแนวทางดูแลที่ชัดเจน รวมถึงต่อไปจะมีทีวีช่องสาธารณะในประเทศไทยจำนวนมาก สิ่งสำคัญคือการดูแลเนื้อหาของรายการต่างๆ ให้มีคุณภาพสูงเพื่อให้ประชาชนเข้าไปรับชมมากขึ้น หากไม่มีการดูแลคุณภาพก็จะกระทบต่อเนื้อหารายการ โดย คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ควรจะมีงบในการดูแลเรื่องเนื้อหารายการที่มีคุณภาพสู่ประชาชน

นายธวัชชัย จิตรภาษ์นันท์ กรรมการ กสทช. กล่าวว่า ในการครอบงำธุรกิจสื่อ กสทช.ได้ออกแบบมาให้มีสัดส่วนการถือหุ้นไม่ให้เกิน 10% เพราะหมายถึงการมีอำนาจในการควบคุมกิจการสื่อได้ ดังนั้น หากเกณฑ์สัดส่วนหุ้นดังกล่าวไม่สามารถใช้ได้ ต่อไปก็มีโอกาสที่จะเกิดการซื้อกิจการธุรกิจสื่อตามมาได้อีกจำนวนมาก

นางสุวรรณา จิตประภัสสร์ ที่ปรึกษา มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า หากองค์กร กสทช. เกิดความอ่อนแอในการทำงาน หรือมีกรรมการที่มีปัญหาเกิดขึ้น ก็ควรมีการเปลี่ยนแปลงกรรมการ เพื่อให้องค์กร กสทช. สามารถทำหน้าที่กำกับดูแลธุรกิจสื่อได้ตามเจตนารมย์ที่จัดตั้งขึ้นมา เพราะหากในประเทศไทยสื่อถูกครอบงำ สื่อมีความอ่อนแอก็จะส่งผลให้ประชาชนในประเทศก็จะอ่อนแอตามสื่อในที่สุด

น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการ กสทช. กล่าวว่า ในขณะนี้เริ่มมีการโฆษณาและรายการผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมาย มีเนื้อหาลดน้ำหนัก ลดความอ้วน ขาว-สวย-ใส และรักษาโรค ที่มีลักษณะเข้าข่ายโอ้อวด เกินจริงมากขึ้น ซึ่ง กสทช.จะมีมาตรการกำกับดูแลที่เข้มงวดมากขึ้น รวมถึงมีผลต่อการให้ใบอนุญาตด้วย

นายประพนธ์ อางตระกูล รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)  กล่าวว่า สำนักงาน กสทช.ได้ส่งเทปบันทึกของช่องรายการต่างๆ  ให้ อย.ตรวจสอบว่าโฆษณาหรือรายการใดที่ไม่ได้รับอนุญาตการโฆษณาจาก อย.ที่อาจเข้าข่ายเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค โอ้อวด เกินจริง จำนวน 49 ช่องรายการ ซึ่ง อย.มีคำสั่งระงับ และปรับ มีหลายช่องที่ถูกปรับเป็นเงินมาก จนบางช่องรายการทำหนังสือมาขอผ่อนผันการจ่ายค่าปรับเพราะต้องต้องปิดกิจการไป